วธ.31 ก.ค.-วธ.เดินหน้าส่งเสริมและรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีไทย ชี้สอดคล้องกับนโยบาย-ยุทธศาสตร์การทำงานของรัฐมนตรีว่าการ วธ. คนใหม่
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,586 คน ประเด็นคนไทยคาดหวังอะไรจาก 20 กระทรวง โดยในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม ประชาชนร้อยละ 66.67 คาดหวังให้ส่งเสริมและรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีไทย ร้อยละ 33.36 ระบุร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของ วธ.ตามที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้แนวทางการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการต่างๆ เพื่อให้ตอบสนองกับนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และดำเนินการสานต่องานวัฒนธรรมในระยะเวลา 5 ปี 10 เดือนที่ผ่านมา โดยมีกรอบการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมใน 3 มิติ 1. สร้างคนดีและสังคมดีด้วยมิติทางวัฒนธรรม โดยปลูกฝัง ส่งเสริมค่านิยมแห่งความเป็นไทย 2.สร้างรายได้และสังคมอยู่ดีกินดี และ 3. เสริมสร้างเกียรติภูมิ ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศด้วย มิติทางวัฒนธรรม
และกำหนดดำเนินงานวัฒนธรรมในภาพรวม ได้แก่ นำงานวัฒนธรรมไปเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเป็นไทยที่ถูกละเลย เช่น ฟื้นฟูการไหว้ การทักทายแบบไทยๆ และส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงการนำเทคโนโลยีและจัดทำบิ๊กดาต้า ฐานข้อมูลมาใช้ดูแลโบราณสถานทั่วประเทศ และการทวงคืนโบราณวัตถุจากต่างประเทศกลับสู่ประเทศไทย
นอกจากนี้ วธ.จะสานต่อและขับเคลื่อนงานต่อเนื่องในทุกมิติ ได้แก่ การสร้างสรรค์ใช้วัฒนธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์วัฒนธรรมและบริการทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ แฟชั่น มวยไทย และเทศกาล ประเพณี ถนนสายวัฒนธรรม 91 แห่งทั่วประเทศ และการส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรม (CPOT) โครงการ “สมาร์ท มิวเซียม” พัฒนาระบบนำชมในรูปแบบของระบบเสมือนจริง (virtual reality) ผ่านสมาร์ทโฟน นำร่องที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร 138 รายการและนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบนำชม พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์โดยใช้ระบบคิว QR Code,AR Code ใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชม
รวมทั้งการสร้างชุมชน วธ.จะขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2559 –2564) มุ่งหวังให้ครอบครัว องค์กร หน่วยงาน และสังคมมีคุณธรรม มีความจงรักภักดีสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา เกิดเป็นชุมชนคุณธรรมกว่า 22,000 ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมผลักดันให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนำอัตลักษณ์ชุมชนทั้งประเพณี วิถีชีวิต ธรรมชาติ สินค้าเกษตร ของฝาก ของที่ระลึก และโฮมสเตย์ ต้อนรับนักท่องเที่ยวสร้างรายได้แก่ประชาชนและเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมีชุมชนคุณธรรมต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ชุมชนคุณธรรมวัดพุตะเคียน จ.กาญจนบุรี ชุมชนคุณธรรมบ้านพิพิธภัณฑ์ จ.อุดรธานี และชุมชนคุณธรรมบ้านผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน
และการสานต่องานด้านการสร้างชาติ วธ.จะให้ความสำคัญเรื่องอิทธิพลของวัฒนธรรมในการสร้างเกียรติภูมิและภาพลักษณ์เพื่อนำความเป็นไทยในเวทีซึ่งเกิดผลสำเร็จและเป็นที่ประจักษ์ อาทิ การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก การจัดการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale ณ จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศและสานต่อปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน เป็นต้น
ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอแนะให้ลดการจัดกิจกรรมและอีเว้นต์นั้น การจัดกิจกรรมที่ผ่านมา ดำเนินการในแบบประชารัฐร่วมมือกันระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม รวมถึงเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงวัย เช่น การจัดงานประเพณีระดับชาติ ระดับท้องถิ่น การจัดงานวันสำคัญทางศาสนา การจัดตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ฯลฯ เนื่องจากเป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในการเผยแพร่ องค์ความรู้ ความเข้าใจและสร้างการรับรู้ในวงกว้าง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว ที่สำคัญการจัดกิจกรรมเน้นคำนึงผลประโยชน์ของประชาชน ชุมชนเพื่อสร้างความรักความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รวมถึงสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน .-สำนักข่าวไทย