นครสวรรค์ 27 ก.ค. – ผู้สูงอายุในพื้นที่เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ มีมากถึง 20% สปสช.จึงร่วมกับเทศบาลฯ จัดสรรงบกองทุนสุขภาพตำบล จัดกิจกรรมส่งเสริมดูแลสุขภาพและป้องกันโรค
นาฬิกาพลิกชีวิต นวัตกรรรมดูแลผู้สูงอายุติดเตียง ระบุเวลารับประทานยา แสดงการจัดท่านอนให้พลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง ช่วยลดแผลกดทับ ส่วนหมอนสมุนไพรช่วยหายใจโล่ง ละลายเสมหะ และรอกกะลาช่วยข้อติด ฝีมือการคิดค้นของหมอและอาสาสมัครครอบครัวเพื่อผู้สูงวัย ที่พี่ประเสริฐศักดิ์ นำมาใช้ดูแลพ่อแม่ที่ล้มป่วยไปพร้อมกัน และอาการดีขึ้น
การป้องกันก็สำคัญไม่แพ้การรักษาโรค จึงเกิดโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงวัย มีผู้สูงอายุเกือบ 200 คน ร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ได้คลายเครียดทุกวันเสาร์ ทั้งรำวง ไท่เก๊ก ทำอาหาร และแช่เท้าสมุนไพร ลุงมนูบอกสนุก ไม่เบื่อ และนำความรู้ส่งต่อครอบครัวช่วยกันดูแลสุขภาพ
ร้อยละ 60 ของผู้สูงอายุติดเตียง ไม่มีผู้ดูแลต่อเนื่อง เทศบาลฯ จึงร่วมกับ สปสช. สนับสนุนงบผ่านกองทุนสุขภาพตำบล จัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจแข็งแรง ห่างโรค พร้อมสร้างศูนย์พัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุ 5 แห่ง
ด้าน สปสช. เผยกิจกรรมที่นี่เป็นต้นแบบที่หลายตำบลนำไปปฏิบัติตามได้ เชื่อกองทุนสุขภาพตำบลจะไม่มีความหมาย หากไม่มีผู้นำช่วยขับเคลื่อน ขณะเดียวกัน ความเข้มแข็งของชุมชนก็จะช่วยดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้ดี ยั่งยืน และเหมาะสมกับพื้นที่
เด็กๆ ในชุมชน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุให้ห่างไกลจากโรคได้ นอกจากสุขภาพแข็งแรง ยังช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ ลดช่องว่างระหว่างวัยได้อีกด้วย. – สำนักข่าวไทย