กรุงเทพฯ 27 ก.ค. – กรมประมงสำรวจ เร่งสำรวจความเสียหายของผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบปลาเลี้ยงในกระชิงริมน้ำโขง ตายแล้วกว่า 100 ตัน
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ตรววจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประมง เช่น ผู้เพาะเลี้ยงปลาในกระชังที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง ใน 3 อำเภอได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอท่าบ่อ และอำเภอศรีเชียงใหม่ จำนวน 282 ราย รวมกว่า 4,160 กระชัง มีผลผลิตกว่า 18,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจากระดับปกติ 3 – 4 เมตร โดยในช่วงวันที่ 18 – 19 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา มีอากาศร้อนจัด ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงปลานิลในกระชังจำนวน 80 – 100 ราย ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ปลาขาดออกซิเจนจนตาย ผลผลิตเสียหายกว่า 100 ตัน รวมมูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท ซึ่งกรมประมงแนะนำให้เกษตรกรนำปลานิลที่ได้รับความเสียหายที่ลอยหัวใกล้ตายหรืออ่อนแอ ไปแปรรูปทำปลาร้าส่งขายให้พ่อค้าในจังหวัดใกล้เคียงกิโลกรัมละ 25 บาท เพื่อบรรเทาความเสียหาย จากที่ปกติปลานิลขนาด 1 – 1.2 กิโลกรัมต่อตัวมีราคากิโลกรัมละ 60 บาท
ส่วนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดินภายในจังหวัดหนองคายเช่น การเลี้ยงปลาหมอ ปลาดุก ปลานวลจันทร์ ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ
นายอดิศร กล่าวว่า แนะนำให้เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังเฝ้าระวังพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชังที่มีระดับน้ำลึกเพียงพอ จัดวางกระชังให้เหมาะสม และไม่หนาแน่นจนเกินไป ปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง เลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพและลดปริมาณให้อาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสดเพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสีย หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำและสังเกตอาการต่างๆ อย่างส่ำเสมอเพื่อจะได้แก้ไขหรือรักษาได้ทันท่วงทีกรณีเกิดอาการผิดปกติ ทำความสะอาดกระชังอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหารซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค นอกจากนี้ยังช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดีซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพสัตว์น้ำ จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภคเพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในกระชัง เพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่ปลาในกระชัง โดยการติดตั้งเครื่องพ่นน้ำลงในกระชังเลี้ยงปลา หรือเดินท่อเติมอากาศให้กับปลาที่เลี้ยงในกระชังโดยตรง ส่วนช่วงหน้าแล้งอาจต้องงดเลี้ยง แล้วทำความสะอาดและซ่อมแซมกระชังเพื่อเตรียมเลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป . – สำนักข่าวไทย