กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – กรมประมงประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูวางไข่ หรือ “ฤดูน้ำแดง” ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2568-30 พ.ย.2572 โดยยังคงแนวทางพื้นที่และช่วงเวลาห้ามทำประมงตามระบบนิเวศ 3 ระยะ พร้อมเพิ่มบทบาทคณะกรรมการประมงจังหวัดให้ออกประกาศเฉพาะพื้นที่ได้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพจริง
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ประกาศฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดในช่วงฤดูวางไข่ โดยให้โอกาสสัตว์น้ำได้สืบพันธุ์ตามธรรมชาติ เพิ่มปริมาณพ่อแม่พันธุ์ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ และลดความเสี่ยงจากการจับสัตว์น้ำที่กำลังวางไข่ ซึ่งเป็นแนวทางสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว
ประกาศฉบับใหม่นี้แตกต่างจากฉบับเดิมที่ใช้ในปี 2566 หลายประการ โดยเฉพาะการกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ที่ขยายออกไปถึง 5 ปี ทำให้สามารถติดตามและประเมินผลทางวิชาการอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งจะช่วยให้การปรับปรุงมาตรการมีความแม่นยำและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่

อีกทั้งยังเปิดทางให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจมากขึ้นในการกำหนดพื้นที่ เครื่องมือ และวิธีการทำประมงให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาใช้เกณฑ์กลางเป็นหลัก ทำให้บางพื้นที่มีข้อจำกัดไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จริง
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ แบ่งช่วงเวลาห้ามทำการประมงออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- 16 พ.ค. – 15 ส.ค. ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ฝั่งอันดามัน และเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์
- 1 มิ.ย. – 31 ส.ค. ครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
- 1 ก.ย. – 30 พ.ย. ครอบคลุม จ.พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
อนุญาตเฉพาะเครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น เบ็ดธรรมดา ตะแกรง ยอ สวิง สุ่ม แหตื้นไม่เกิน 3 เมตร พร้อมข้อยกเว้นสำหรับงานวิจัย ทดลอง ช่วยชีวิตสัตว์น้ำ หรือโครงการภาครัฐที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ คณะกรรมการประมงจังหวัดสามารถออกข้อจำกัดเพิ่มเติมตามความเหมาะสมของพื้นที่ได้
ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท หรือ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ กรมประมงจึงขอความร่วมมือจากประชาชนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำจืดให้ยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต. -512-สำนักข่าวไทย