กระทรวงการคลัง 22 ก.ค. – รมว.คลังเตรียมพร้อมแจงนโยบายรัฐบาล ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับบัตรสวัสดิการฯ ปฏิรูปภาษี
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมพร้อมข้อมูล เพื่อชี้แจงนโยบายรัฐบาลกับสภา และตอบการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ได้รู้สึกหนักใจต่อการชี้แจง เพราะเป็นการแถลงตามขั้นตอนก่อนรัฐบาลเริ่มทำงานเต็มรูปแบบ จึงพร้อมชี้แจงทุกประเด็น สำหรับนโยบายการลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 10 เพื่อดูแลคนระดับกลางตามที่รัฐบาลหาเสียงเอาไว้นั้น กำลังศึกษาเศรษฐกิจทั้งระบบ
“แผนการปรับโครงสร้างภาษีได้สั่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำการศึกษาระบบว่าฐานภาษีพิจารณาทั้งเรื่องรายรับ รายจ่ายงบประมาณ จึงยังไม่สรุปว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นฐานภาษีตัวอื่นมาชดเชยการลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 10 เพื่อไม่ให้อีกด้านได้รับผลกระทบ” นายอุตตม กล่าว
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐมนตรีคลังมอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดเตรียมข้อมูลสำหรับรองรับการแถลงนโยบายรัฐบาลวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ เพื่อเตรียมแผนปฏิบัติเชิงลึกให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล อาทิ นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาประสิทธิภาพบัตรสวัสดิการฯ เพื่อดูแลรายย่อยเพิ่มเติม การปฏิรูปภาษี ส่วนการจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทรวงคลังได้ เตรียมการรองรับทั้งแผนระยะสั้นที่ใช้งบประมาณปี 2562 และแผนระยะยาวที่ต้องใช้งบปี 2563 จึงต้องมาหารือกันเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านโยบายเร่งด่วนต้องดำเนินการ เช่น ปัญหาปากท้องชาวบ้าน ต้องปรับปรุงที่ดินทำกินให้เกษตรกรอย่างเพียงพอ การให้สินเชื่อเอื้อต่อการเข้าถึงของรายย่อย การยกระดับบัตรสวัสดิการฯ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ ครอบคลุมไปยังกลุ่มมารดาตั้งครรภ์ และเด็กแรกเกิด เด็กเรียนดีแต่มีปัญหาครอบครัว เร่งรัดพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ การปรับปรุงงบประมาณปี 2563 เพื่ออัดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว การยกระดับค่าแรงงานแรกเข้า และปรับค่าแรงให้สอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพ ทักษะฝีมือแรงงาน
ส่วนนโยบายระยะยาวของรัฐบาลที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ ได้แก่ การดูแลวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยจะกำหนดสิทธิ์ทางภาษีให้ชัดเจนเมื่อเข้าลงทุนในกลุ่มเป้าหมาย การปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ภาครัฐทั้งภาษีและทรัพย์สิน ผ่านการขยายฐานภาษีและปรับปรุงอัตราภาษีให้เหมาะสม การจัดทำ Big Data การทบทวนค่าลดหย่อนภาษีที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงภาษีรองรับยุคดิจิทัล การส่งเสริมให้เอกชนมีศักยภาพในการแข่งขัน
ด้านการออมพร้อมผลักดันให้ประชาชนทุกกลุ่มมีเงินออมระยะยาวรองรับวัยเกษียณ พัฒนาตลาดเงินตลาดทุนให้เป็นแหล่งทุนของภาคเอกชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับเศรษฐกิจแบ่งปัน เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อปรับปรุงกฎหมายรองรับผู้ประกอบการยุคใหม่ การจัดการแหล่งทุน เพื่อกระตุ้นให้เยาวชน สตรีพัฒนาแอพพลิเคชั่น นวัตกรรม ทำธุรกิจด้วยตนเอง
กระทรวงการคลังยังต้องร่วมมือพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รองรับมหานครการบิน ศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ขยายไปยังเมืองภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา การยกระดับภาคเกษตรเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ทำกิน เพื่อสร้างสังคมเอื้ออาทร สร้างความเข้มแข็งในชุมชน จึงต้องดูแลตั้งแต่เด็กแรกเกิดต่อเนื่องจนถึงวันเรียน การพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพรองรับไทยแลนด์ 4.0.-สำนักข่าวไทย