มุกดาหาร 9 ก.ค.- ช่วงเดือนที่แล้ว พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ สปป ลาว ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะระบาดในไทย หากเกิดการระบาดต้องทำลายหมูเท่านั้น มีการประเมินออกมาว่าหากระบาดในไทยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็นเงินสูงถึง 200,000 ล้านบาท โรคนี้น่ากลัวอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ไม่มียารักษา เชื้อมีความคงทนในสิ่งแวดล้อม สุกรที่ป่วยมีอัตราการตายสูง หากระบาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ นี่คือความน่ากลัวของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกรและหมูป่า ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกรให้เป็นวาระแห่งชาติ
โรคนี้มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เคยแพร่เข้ายุโรปราว 60 ปีที่แล้ว ปลายปีที่ผ่านมาพบการระบาดครั้งแรกในทวีปเอเซีย เริ่มระบาดที่จีน แพร่ระบาดสู่เวียดนาม กัมพูชา ล่าสุด เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์การสุขภาพสัตว์โลก หรือ OIE ประกาศพบการระบาดที่แขวงสาละวัน สปป.ลาว ยังไม่พบการระบาดในไทย แต่มีโอกาสเสี่ยงระบาดเข้าไทยผ่านประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน
สุกรที่ป่วยเป็นโรคอหิวาห์แอฟริกามีอาการหลากหลาย โดยทั่วไปมีไข้สูง ลุกยืนลำบาก อาเจียน ท้องเสีย มีจุดเลือดออกบนผิวหนังที่หู จมูก ตายภายใน 10 วัน หากพบการเกิดโรคต้องทำลายสุกรทันทีในรัศมี 1-5 กิโลเมตร
โรคนี้ติดต่อทางสารคัดหลั่งของสุกรป่วย การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน, เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเชื้อแพร่กระจายไวรัสได้ โรคอหิวาห์แอฟริกาในสกุรไม่ติดต่อสู่คน ไม่เป็นอันตรายต่อคนและการบริโภค และไม่ติดต่อข้ามไปยังสัตว์ชนิดอื่น.-สำนักข่าวไทย