กรุงเทพฯ 18 ส.ค.-ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ มั่นใจเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้น ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ การประเมินสถานะทางธุรกิจไทย โอกาส และความเสี่ยง จากกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 600 ตัวอย่างทั่วประเทศในกลุ่มธุรกิจเกษตร การค้า การผลิตและธุรกิจบริการ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ยังคงไม่ดีนัก โดยดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจมีการปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะอยู่ที่ 101.9 และไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 103.8 ปรับตัวสูงเกิน 100 สะท้อนว่าภาคธุรกิจ รับรู้ว่าเศรษฐกิจดีขึ้น และจะปรับตัวเด่นชัดในช่วงครึ่งหลัง ส่งผลให้ทั้งปี 2559 คาดว่า ดัชนีจะอยู่ที่ 98.3
ขณะที่ ในปี 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์ต่างๆส่งผลต่อค่าดัชนีให้ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 119.5 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากการลงทุนของรัฐบาล และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ผลการสำรวจสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลต่อภาคธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 40.8 เห็นว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อธุรกิจ อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 29.1 ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากจะมีผลกระทบ ทำให้การส่งออกลดลงต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงสูงขึ้น ทำให้ต้องชะลอการผลิต โดยเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่ในระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ รัฐบาล ควรเข้ามาดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ควรดูแลให้ปรับไปในทิศทางและอัตราใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งสนับสนุนการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น สกัดกั้นการเก็งกำไรของค่าเงิน และสนับสนุนเรื่องการลดต้นทุนในการส่งออกให้มาก
ส่วนการประเมินผลกระทบของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ต่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ในกลุ่มการค้า การผลิต และภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจทัวร์ พบว่า ส่วนใหญ่ประเมินว่า จะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติมากที่สุด แต่จะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ การจับจ่ายของคนในพื้นที่ ตลอดจนการจับจ่ายโดยรวมของประเทศมากนัก โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า ระยะเวลาที่ได้รับกระทบประมาณ 1 – 2 เดือน ซึ่งจะมีผลต่อการบริโภค ทำให้ยอดขายโดยรวมลดลงเฉลี่ยวันละ 75 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบประมาณ 2,300 – 4,500 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคในพื้นที่เป็นระยะสั้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.6 เห็นว่า จะกระทบต่อการท่องเที่ยวเฉพาะภาคใต้เท่านั้นซึ่งคาดว่าจะมีผลให้นักท่องเที่ยวที่จะไปภาคใต้ หายไปประมาณ 124,931 คน หรือเพียงร้อยละ 1.1 ไม่กระทบต่อการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวของปีนี้ ที่ 33.2 ล้านคน เม็ดเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณ 6,050 ล้านบาท ส่งผลกระทบโดยรวมอยู่ในกรอบ 8,300 – 10,573 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพีของ ไทยเพียงร้อยละ 0.05-0.07 หากไม่เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีก และยังไม่บั่นทอนเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังคงคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้ ที่ร้อยละ 3.3 ตามเดิม.-สำนักข่าวไทย