กรุงเทพฯ 13 มิ.ย. – “ชาญศิลป์” คาดเม็ดเงินลงทุนมาบตาพุดเฟส 3 เริ่มได้ในไตรมาส 4/62 ระบุบอร์ด ปตท.มิ.ย.นี้ ปรับงบลงทุน 5 ปี ตามแผนลงทุนเพิ่มของ ปตท. ส่วนซีอีโอใหม่ “จีซี” ไม่เร่งแต่งตั้ง
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.กล่าวว่า ปตท.เดินหน้าตามแผน คือ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยในส่วนของการร่วมทุนโครงการมาบตาพุดเฟส 3 หลังจาก ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์การร่วมทุนแล้ว ขั้นตอนต่อไปทางกลุ่มผู้ร่วมทุนจะเจรจารายละเอียดกับสำนักงานอีอีซี หลังจากนั้นจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุน ขณะที่กลุ่มผู้ร่วมทุนต้องจัดตั้งบริษัทร่วมทุนให้เรียบร้อย ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนคงจะเริ่มได้ในใตรมาส 4 ปีนี้ ขณะที่ประมูลโครงการแหลมฉบังเฟส 3 นั้น คงจะล่าช้าออกไป เพราะเอกชนที่แข่งขันประมูลโครงการมีการฟ้องร้อง และทางภาครัฐคงจะพิจารณารายละเอียดทั้งหมด ก่อนที่จะเห็นชอบหรือไม่ต่อไป
“โครงการมาบตาพุดเฟส 3 มีผู้ประมูลรายเดียว และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ทำให้โครงการเดินหน้าได้เร็ว ส่วนแหลมฉบังเฟส 3 คงล่าช้าออกไป เข้าใจว่าภาครัฐคงจะดูทุกอย่างให้รอบคอบ จากที่ผู้เสนอประมูลอีกรายคัดค้านผลการคัดเลือก” นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ ยังกล่าวด้วยว่า จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.เดือนมิถุนายนนี้ปรับปรุงงบประมาณลงทุน 5 ปี (2562-2566) ที่เดิมกำหนดไว้ 167,114 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่กลุ่ม ปตท.จะมีการปรับปรุงทุกครึ่งปี อาจจะมีเพิ่มงบฯ บ้าง จากโครงการที่มีความคืบหน้าในการลงทุน เช่น โครงการ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือจีพีเอสซี ที่เข้าซื้อกิจการ บมจ.โกลว์พลังงาน (GLOW) ส่วนเงินลงทุนอีอีซี ด้านอื่น ๆ เป็นงบฯ ที่ ปตท.เตรียมไว้แล้วในงบลงทุนในอนาคต (Provision) ในช่วง 5 ปีนี้ (2562-2566) วงเงิน 187,616 ล้านบาท ซึ่งการจัดทำงบทุกครั้ง ปตท.ได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยหลักการยังเป็นเช่นเดิม คือ เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เช่น โครงการท่อก๊าซฯ เส้นที่ 5, โครงการสร้างสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะ 2 เป็นต้น
ส่วนการโยกย้ายผู้บริหารในกลุ่ม ปตท. ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง โดยมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมกับงาน เช่น กรณีประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) บมจ.พีทีทีโกลบอล เคมิคอล หรือจีซี ก็ยังมีเวลา เพราะนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จะเกษียนสิ้นกันยายนนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ ก็มีทั้งผู้บริหารจากจีซี และ ปตท. อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้บริหารของจีซี ก็ต้องโยกย้ายมาเป็น พนักงาน ปตท.ก่อน เพราะตามหลักการของ ปตท. คือ ผู้บริหารระดับซีอีโอและซีเอฟโอ (ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ) จะต้องมาจากผู้บริหารของ ปตท.เท่านั้น
สำหรับการประมูลโครงการในอีอีซีนั้น ปตท.โดย บริษัทในเครือ คือ พีทีทีแทงค์เทอร์มินอล ได้ร่วมทุนกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ (GULF) ทั้งโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1) สัดส่วน 30:70 โดยเงินลงทุนโครงการนี้ทางอีอีซีระบุอยู่ที่ประมาณ 55,400 ล้านบาท และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) วงเงินลงทุนประมาณ 84,000 ล้านบาท ประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล, กัลฟ์ และบริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนเห็นชอบปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ โดยปรับปรุงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐตามที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เจรจาเพิ่มเติมกับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลในโครงการ โดยอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ของ กนอ.อยู่ที่ 9.21% และผลตอบแทนของภาคเอกชนที่ชนะการประมูลหลังการต่อรองลดลงจากเดิม 14,371 ล้านบาท เป็น 14,298 ล้านบาท คิดเป็น FIRR 10.73%.-สำนักข่าวไทย