กรุงเทพฯ 9 มิ.ย. – รฟท.มั่นใจเจรจาค่าโง่โฮปเวลล์มีความชัดเจนเดือนนี้ ขณะที่สัปดาห์หน้าจะเร่งหารือกลุ่มซีพีประเด็นปัญหาเสาโฮปเวลล์ที่ขวางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และต้องทุบทิ้ง
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการเจรจาเรื่องปัญหาค่าโง่โครงการโฮปเวลล์ ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหลายหน่วยงาน เพื่อเจรจากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดและรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐ โดย รฟท.มั่นใจว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในเดือนนี้ ทั้งประเด็นจำนวนเงินที่ชัดเจนที่ต้องมีการจ่ายชดเชยตามคำสั่งของศาล โดยขั้นตอนทั้งหมดจะดำเนินการเสร็จภายใน 90 วัน หรือ 3 เดือนหลังจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบของคำสั่งศาลที่กำหนดให้การจ่ายชดเชยให้เสร็จภายใน 180 วัน
นอกจากนี้ วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายนนี้ รฟท.จะมีการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเรื่องของแนวเส้นทางของโครงการ เพื่อเตรียมแผนการส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม CPH ใช้ดำเนินการก่อสร้าง และจะครอบคลุมถึงประเด็นปัญหาของเสาโฮปเวลล์ที่กีดขวางงานก่อสร้างของโครงการ และจำเป็นต้องทุบทิ้ง โดยจะต้องให้เกิดความชัดเจนว่าจะต้องมีการทุบทิ้งจำนวนกี่ต้นและใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าเสาของโฮปเวลล์ที่กระทบต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น จะเป็นพื้นที่ส่วนน้อย ซึ่งทั้ง รฟท. และกลุ่ม CPH สามารถทยอยส่งมอบพื้นที่ส่วนอื่นซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 80-90 % ของการไปดำเนินการก่อน หากการเจรจากับโฮปเวลล์ได้ข้อยุติและการทุบเสาโฮปเวลล์ไม่กระทบกับการก่อสร้างในภาพรวม
ส่วนประเด็นที่ผู้สื่อข่าวถามว่าหากกลุ่ม CPH ต้องการให้ รฟท.ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดพร้อมกันโดยเร็ว รักษาการผู้ว่าฯ รฟท. ตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นกลุ่มซีพีก็สามารถเข้ามาช่วยให้การเจรจากับโฮปเวลล์ได้ข้อยุติเร็วขึ้น ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเจรจากัน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับเสาของโครงการโฮปเวลล์ที่คาดว่าจะเป็นอุปสรรคกีดขวางงานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ในช่วงจากสนามบินดอนเมืองที่จะมุ่งหน้าไปมักกะสัน คาดว่าจะมีไม่มาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ระหว่างก่อนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต ซึ่งในขณะนั้น บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมางานก่อสร้างได้ดำเนินการทุบเสาโฮปเวลล์ ไปแล้วกว่า 400 ต้น จากทั้งหมดกว่า 500 ต้น โดยใช้งบประมาณประมาณ 200 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย