กรุงเทพฯ 31 พ.ค. – ปีนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยผลิตน้ำตาลได้รวม 14 ล้านตัน ปัญหาอ้อยไฟไหม้ยังต้องเดินหน้าแก้ไขต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลเริ่มเปิดหีบอ้อยมารวมมากกว่า 160 วัน ขณะนี้ปลายเดือนพฤษภาคมโรงงานน้ำตาลปิดหีบอ้อยประจำฤดูกาลนี้แล้ว โดยมีผลผลิตอ้อยจากทั่วประเทศส่งเข้าหีบที่โรงงานน้ำตาล 55 โรงงาน รวมอ้อยทั้งสิ้น 130.97 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 14 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 อ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่เป็นอ้อยไฟไหม้เกิดจากวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยด้วยวิธีการเผามีมากถึง 80.03 ตันอ้อย ขณะที่อ้อยสดซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าอ้อยไฟไหม้เข้าหีบที่โรงงานเพียง 50.93 ตันอ้อย
ด้านความหวานของอ้อยฤดูกาลผลิตนี้ อ้อยที่เกษตรกรปลูกมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.64 ซี.ซี.เอส. ส่งผลให้อ้อย 1 ตันที่เข้าหีบสามารถผลิตน้ำตาลออกมาได้ 111.33 กิโลกรัม (กก.) นอกจากค่าความหวานของอ้อยแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากการเข้มงวดเข้าไปตรวจสอบการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ด้วย ปีนี้โรงงานน้ำตาลทุกแห่งสอบผ่านตามมาตรฐานประสิทธิภาพการผลิต จนสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินจาก สอน.จนครบทุกโรงงานแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อย ทำให้เกษตรกร ตัดสินใจใช้วิธีการเผาไร่อ้อยเพื่อให้การเก็บเกี่ยวเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อ้อยไฟไหม้ก็สร้างปัญหาควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและยังกระทบต่อคุณภาพอ้อยให้คุณภาพลดต่ำลง กระทบต่อราคาอ้อยที่เป็นรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่จะได้รับตามคุณภาพอ้อยที่โรงงานได้รับ
สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 หรือฤดูการผลิตปีหน้า นับเป็นช่วงที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล จะต้องปรับตัวและวางแผนรับมือทั้งสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งราคาน้ำตาลตลาดโลก ค่าจ้างแรงงานตัดอ้อย รถบรรทุกอ้อย แรงงานในโรงงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การช่วยบรรเทาผลกระทบ เช่น พิจารณานำรถตัดอ้อยมาใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตแทนคนตัดอ้อย นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับปัญหาแรงงานประจำฤดูผลิตที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะเป็นงานหนัก รวมทั้งโรงงานน้ำตาลเปิดทำการเพียงช่วงสั้น ๆ แต่ละปี 4-5 เดือนเท่านั้นในช่วงหีบอ้อย ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต จนสร้างผลกระทบเขม่าควันและเป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่นขนาดเล็ก P.M.2.5 ที่สังคมกังวล จึงต่อต้านการเผาไร่อ้อย และทางราชการออกมาดูแลบังคับห้ามการเผา ด้านรถบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก็มีปัญหา ด้านกฎหมายระเบียบการขนส่งที่กำหนดน้ำหนักบรรทุกที่จำกัดเอาไว้ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย