อสมท 16 พ.ค.-ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เตรียมยื่นหนังสือ กสทช.เยียวยาหลังช่องทีวีหายไป 7 ช่อง
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ หรือ MUX ที่ตอนนี้มีอยู่ 5 ช่องโครงข่าย คือกองทัพบก(ช่อง 5) มี 2 ช่องโครงข่าย, กรมประชาสัมพันธ์, อสมท(MCOT) และไทยพีบีเอส (TPBS) ในนามชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ชคท.) หรือ Digital Television Network Provider Society (DNPS) เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการดูแลและช่วยเหลือผู้ให้บริการ MUX ที่ได้รับผลกระทบจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกประกาศสำนักงาน กสทช. ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และมีผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลยื่นหนังสือขอคืนใบอนุญาต 7 ช่อง ประกอบด้วย MCOT Family (ช่อง 14) Spring News (ช่อง 19) Spring (ช่อง 26) Voice TV (ช่อง 21) ช่อง 3SD (ช่อง28 ) 3 FAMILY (ช่อง 13) และไบร์ททีวี (ช่อง 20 )
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปผลที่กระทบโครงข่ายและเตรียมทำหนังสือถึง กสทช.เพื่อทวงถามความรับผิดชอบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ
1.กรณีที่ช่องหายไป การเยียวยาของ กสทช.มีมาตรการอย่างไร เพราะ 7 ช่องที่หายไป กระจายอยู่ในโครงข่าย 4 แห่ง ได้แก่ ช่อง 5 , อสมท ,และไทยพีบีเอส ยกเว้นของกรมประชาสัมพันธ์ จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร และเมื่อไหร่ให้กับผู้ประกอบการ MUX เพราะจะเกี่ยวข้องกับการปิดสถานีทั้ง 7 แห่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงเดือน ก.ค.ชมรมฯจึงต้องการความชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะหากปล่อยไว้จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลโครงข่าย ปรับปรุงให้ทันสมัยจะบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดภาวะขาดทุน แม้ทั้งหมดจะเป็นหน่วยงานของรัฐก็ตาม
2.ตอนนี้มีช่องทีวีดิจิทัลเหลืออยู่ 15 ช่อง และแนวโน้มไม่น่ามีเพิ่มขึ้น และอาจลดลงอีกในอนาคตด้วย ถ้าหากว่าช่องทีวีดิจิทัลที่เช่าโครงข่ายอยู่เกิดหายไปอีก ส่งผลให้บาง MUX ไม่เหลือผู้เช่า พูดง่าย ๆ คือ จะไม่มีรายได้เข้ามา ลำพังแค่ 7 ช่องที่หายไป ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายสูญเสียรายได้ไปอย่างน้อย 300 ล้านบาท ตรงนี้ กสทช.จะดำเนินการอย่างไร ถ้าจะคืนใบอนุญาตโครงข่าย จะสามารถทำได้หรือไม่ มีกฏเกณฑ์อย่างไร และจะเยียวยาอย่างไร
‘ส่วนตัวมองว่าการคืนโครงข่ายสัก 1 โครงข่ายที่มีเหลืออยู่น่าจะเพียงพอกับช่องต่างๆ 15 ช่องที่มีอยู่ในขณะนี้ และเงินชดเชยที่ได้รับกลับมาก็จะเพียงพอที่จะมาเยียวยาบุคคลากรในโครงข่ายนั้นๆได้ ส่วนMUXของช่อง 9 แนวโน้มคงต้องดูลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่แค่รายเดียว(ไทยรัฐทีวี) ถามว่าอยากยุบโครงข่ายหรือไม่ คงต้องขอรอดูความชัดเจนมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมจาก กสทช.ก่อน ซึ่งหากผลออกมาเป็นในแนวทางที่ 2 คือให้คืนใบอนุญาตโครงข่าย ทางชมรมฯจะต้องมาประชุมอีกครั้งว่าMUXของใครจะรับหลักการตรงนี้ไป’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท กล่าว
สำหรับรายได้ที่แต่ละ MUX ได้รับ หากเป็นช่อง HD จะมีรายได้ต่อเดือนจากผู้ประกอบการประมาณ 10 ล้านกว่าบาทต่อเดือน และช่อง SD เดือนละ 3 ล้านกว่าบาท แต่ถ้าหากพิจารณามัคทั้ง 5 แห่งจะพบว่า มัคของช่อง 9 และกรมประชาสัมพันธ์ มีลูกค้าน้อยมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าก็มีความเสี่ยงที่สุดเช่นเดียวกัน
ส่วนหนังสือที่ทางชมรมฯจะยื่นให้ กสทช.พิจารณาเยียวยาช่วยเหลือ น่าจะยื่นได้ภายในเดือนนี้ แต่จะเร่งให้เร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้า.-สำนักข่าวไทย