จีน 26 เม.ย. – นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRF) ครั้งที่ 2 และกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมระดับสูง ต้องการเห็นยุทธศาสตร์ BRI ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังได้หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เดินทางถึงกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว เมื่อเวลา 06.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 2
ต่อมานายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีเปิดการประชุม BRF และกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมระดับสูงว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) จะกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ของโลก และสอดคล้องกับเป้าหมายและหลักการของอาเซียนและประเทศในภูมิภาค
ไทยและอาเซียนเห็นว่า การเชื่อมโยงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยต้องเร่งรัดความร่วมมือที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยง 4 ด้าน คือ ด้านกายภาพ โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบก ระหว่างคุนหมิงกับกรุงเทพฯ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ โดยโครงการอีอีซี จะเป็นหนึ่งในโครงการแม่แบบในการเชื่อมโยงไทยเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน, ด้านกฎระเบียบ จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้า, ด้านดิจิทัล เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสให้ชุมชนด้อยโอกาสต่างๆ และด้านประชาชน ช่วยส่งเสริมความมั่งคั่งที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าไทยต้องการเห็นยุทธศาสตร์ BRI ประสบความสำเร็จ โดยมิตรประเทศร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และเพื่อสันติภาพของภูมิภาคและของโลก
ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมวิสัยทัศน์ผู้นำจีนที่พัฒนาและปฏิรูปประเทศจนก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจีน
สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยและจีนมีศักยภาพในการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ตั้งไว้ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนผู้ประกอบการจีนเข้าร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ และการซ่อมบำรุงอากาศยาน
ส่วนความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีน มีความคืบหน้า เพราะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือเส้นทางเชื่อมต่อทางรถไฟ ระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ที่ 2 ประเทศจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด พร้อมเชิญชวนนักลงทุนจีนศึกษาดูงานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งไทยจะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติ เช่น การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร หรือการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นต้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี เชิญนายหลี่ เค่อเฉียง เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างที่มีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทยด้วย. – สำนักข่าวไทย