กรุงเทพฯ 9 มี.ค.-เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ชี้ ครม.เห็นชอบเอสซีจีต่ออายุเหมืองแร่หินปูนซีเมนต์ เอื้อกลุ่มทุน ด้านเอสซีจีแจงไม่ได้สิทธิ์พิเศษแต่อย่างใด ทำตามกฏหมายและดูแลสิ่งแวดล้อมเคร่งครัด
นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ชี้แจงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา มีมติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อทำเหมืองแร่หินปูนว่า บริษัทฯ ได้ขออนุญาตตามขั้นตอนและข้อกำหนดของทางราชการอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทุกราย โดยทำตามกฎหมายควบคุม 2 ฉบับ คือ ประทานบัตรเหมืองแร่ จากกระทรวงอุตสาหกรรม มีอายุสูงสุด 25 ปี ซึ่งบริษัทฯ ได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2554 – 2579 ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งถือเป็นประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ด้วย ส่วนอีกฉบับ คือ หนังสือขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่จากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งบริษัทฯ ได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2544-2554 บริษัทฯ จึงได้ขอต่ออายุหนังสือดังกล่าวต่อกรมป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
“ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขออนุญาตอย่างถูกต้องครบถ้วน และได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพและปริมาณสำรองที่สามารถทำเหมืองได้ ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความเห็นให้บริษัทฯ ได้รับการพิจารณาผ่อนผันให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้”นายชนะ ระบุ
ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งหินปูนที่มีศักยภาพ ทั้งยังมีปริมาณสำรองมากเพียงพอสำหรับการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อการพัฒนาประเทศ และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ระบุว่าสามารถเข้าทำประโยชน์เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ คราวละไม่เกิน 10 ปี ผู้ผลิตปูนซีเมนต์หลายรายจึงขออนุญาตเข้ามาใช้พื้นที่สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ ตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ดังกล่าว
สำหรับการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A นั้น ด้วย ครม. ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ ยกเว้นผู้ที่เคยได้รับอนุญาตหรือมีข้อผูกพันกับภาครัฐมาก่อนแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายและเอสซีจีเข้าข่ายดังกล่าว โดยจะต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ต่อ ครม. และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตอย่างถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การจัดทำรายงานประเมินศักยภาพลุ่มน้ำ รายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นของชุมชน รายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมทั้งตรวจสอบความสมบูรณ์ของป่าไม้ เพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบของ ครม.
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การออกมติ ครม. ผ่อนผันให้บริษัท SCG เป็นการเฉพาะรายในครั้งนี้จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนอย่างชัดเจน โดยไม่สนใจปัญหาของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่จะตามมาแม้แต่น้อย -สำนักข่าวไทย