กทม. 15 ก.พ. – หลายหน่วยงาน ออกมาตรการช่วยเอสเอ็มอี สู้พิษเศรษฐกิจช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นปีนี้
คลุกข่าวเล่าประเด็นวันนี้ เราจะมาโฟกัสที่สถานการณ์ของประกอบการวิสาหกิจ และขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งขณะนี้หลายภาคส่วนแสดงความห่วงใย นอกจากภาวะเศรษฐกิจที่ทรงๆ ตัวแล้ว ในปีนี้ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น แน่นอนก็จะกระทบกับต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีต้นทุนสูงขึ้น หลายหน่วยงานภาครัฐ ก็พยายามออกมาตรการช่วยเหลือ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า แม้ในไตรมาส 1 ปีนี้ คาดว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 43.9 โดยมองว่าสถานการณ์ธุรกิจของภาคเอสเอ็มอีจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ดีมาก แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ประคองให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ มองว่า ไตรมาส 1/2562 มีหลายปัจจัยที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมีความสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ อาทิ ความชัดเจนเรื่องสงครามการค้า แผน Brexit ของอังกฤษ การเลือกตั้งที่จะทำให้เกิดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจที่จะมีผลถึงทิศทางทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในประเทศด้วย
อย่างไรก็ตามมีปัจจัยลบที่สำคัญ คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในช่วงก่อนหน้านี้ ถือเป็นปัจจัยลบของภาคเอสเอ็มอี เพราะมีผลกับต้นทุนทางการเงิน โดยผลจากการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 6 ก.พ.62 ซึ่งมีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณ อีกทางหนึ่งว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 0.25-0.50% ในปีนี้ ตรงนี้ทำให้ภาคเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้
ส่วนมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น ในสัปดาห์นี้ 2 หน่วยงาน ออกมาประสานเสียง มีมาตรการพร้อมกัน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า กระทรวงพาณิชย์ มีความร่วมมือกับภาคธุรกิจชั้นนำ ที่จะเร่งอบรมให้ความรู้กับเอสเอ็มอี ให้สามารถปรับตัวแข่งขันได้ โดยเฉพาะการดูแลผู้ประการรายย่อย มีหลายหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์เร่งช่วยเหลือ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่จะกำลังเร่งกระตุ้นการค้าขายในท้องถิ่นผ่านร้านโชห่วยให้มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยสั่งซื้อสินค้า และขายผ่านออนไลน์ กรมการค้าภายใน ดูแลร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ที่นอกจากจะพัฒนาร้านค้าปลีกให้มีสินค้าหลากหลาย ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าราคาถูกด้วย และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เน้นให้ผู้ประกอบการ พัฒนาสินค้า เพื่อออกสู่ตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมบอกเปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ อีสเม็ด (ISMED) ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งปีนี้นำร่องพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 10 กิจการ ผ่านการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ เพื่อใช้เครื่องมือดิจิทัลมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล
การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สู่ตลาดสากลและการทดสอบตลาด มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ การนำผลิตภัณฑ์ เข้าสู่ตลาดโดยใช้เทคโนโลยีระบบไอที มาช่วยเหลือ โดยทั้งนี้คาดว่าจะมีการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 5 ชนิด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตั้งเป้า ภายใน 3 ปี จะเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการต่างๆ อีก 5-10 เท่า และตั้งเป้าให้มีลูกค้าในต่างประเทศกว่า 1 ล้านราย โดยจะเน้นในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนก่อน ซึ่งเชื่อว่า เอสเอ็มอีที่คัดเลือกมาเข้าร่วมโครงการ จะสามารถปรับตัวให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น .- สำนักข่าวไทย