กรุงเทพฯ 26 ม.ค.- เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นวันศุกร์ 25 ม.ค.อยู่ที่ระดับ 31.66 ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดรอบ 6 สัปดาห์ ปิดที่ระดับที่ 1,623.62 จุด
บริษัท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้(21-25
ม.ค.) เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น
หลังจากที่อ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามการอ่อนค่าของเงินหยวน
ประกอบกับมีปัจจัยลบจากตัวเลขการส่งออกเดือนธ.ค. ของไทยที่อ่อนแอกว่าที่คาด
โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ในช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ
หลังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นการเลือกตั้งของไทย ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ
ถูกกดดันจากภาวะชัตดาวน์หน่วยงานราชการสหรัฐฯ
ความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
และยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. ที่หดตัวกว่าที่ตลาดคาด ในวันศุกร์ (25 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ
31.66 เทียบกับระดับ 31.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ม.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป
(28 ม.ค.-1 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่
31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนธ.ค.
และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่
ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (29-30 ม.ค.) ภาวะชัตดาวน์ของสหรัฐฯ
การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน สถานการณ์ BREXIT ของอังกฤษ และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ
และประเทศชั้นนำอื่นๆ ของโลก ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์
ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน
ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.
ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนธ.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ย.
และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้(21-25
ม.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดรอบ
6 สัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,623.62 จุด เพิ่มขึ้น
2.52% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 26.61%
จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 55,671.61 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ขยับขึ้น 3.85% จากสัปดาห์ก่อน
มาปิดที่ 371.40 จุด ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ
แม้จะมีปัจจัยกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยภายในประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความคืบหน้าการเลือกตั้ง
หลังมีการเผยแพร่พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง และกำหนดวันเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่
มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเข้ามา
หลังจากที่มีแนวโน้มว่าจะมีแนวทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น
แม้ครม.เห็นชอบให้ค่ายา-เวชภัณฑ์-ค่าบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุมก็ตาม
สำหรับสัปดาห์ถัดไป
(28 ม.ค.-1 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่
1,610 และ 1,600 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,630 และ 1,645 จุด ตามลำดับ
โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของเฟด (29-30 ม.ค.)
สถานการณ์ชัตดาวน์ของสหรัฐฯ การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
ตลอดจนผลประกอบการไตรมาส 4/61 ของบริษัทจดทะเบียน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือนม.ค. ขณะที่
ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/61 และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค.
ของประเทศในแถบยุโรป ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค. ของจีนและญี่ปุ่น-สำนักข่าวไทย