นนทบุรี 22 ม.ค. – เครือข่ายชาวสวนมะพร้าวเข้าพบผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เรียกร้องชะลอนำเข้า หลังมะพร้าวในประเทศราคาตกเหลือเพียงลูกละ 5 บาท จากราคาที่อยู่ได้ 10-12 บาท
นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวสวนมะพร้าวและแกนนำกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวอินทรีย์ อ.บางสะพาน พร้อมกับชาวบ้านกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวอินทรีย์ในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 200 คน เดินทางโดยรถบัส 4 คัน ออกจากประจวบฯ เข้ามายังกรุงเทพมหานครตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาเวลาประมาณ 20.00 น. โดยเดินทางมาถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เมื่อเข้าหารือกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ แล้วก็ได้เดินทางต่อมายังกระทรวงพาณิชย์เวลาประมาณ 13.00 น. จากนั้นได้ส่งตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว 30 คน เข้าพบนายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อยื่นเรื่องปัญหาความเดือดร้อนและอยากให้ทั้ง 2 หน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเป็นการเร่งด่วนกันต่อไป
ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคาใจว่าทำไมโรงงานแปรรูปไม่ซื้อมะพร้าวที่มีอยู่มากมายในประเทศ แต่หันไปนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ราคามะพร้าวตกต่ำเหลือเพียงลูกละ 5 บาท ขณะที่ราคาที่เกษตรกรอยู่ได้นั้นต้องอยู่ที่ลูกละ 10-12 บาท เดือดร้อนกันหนัก จึงได้เข้ามาเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ชะลอการนำเข้าออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องปัญหาความเดือดร้อนครั้งนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว และได้มีการชี้แจงแนวทางการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว โดยกรมการค้าภายในได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างจริงจังโดยเฉพาะมะพร้าวที่เกษตรกรกำลังประสบปัญหาขณะนี้ โดยกรมการค้าภายในกำหนดมาตรการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวที่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยจัดทำโครงการรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้งปี 2562 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรกลุ่มเกษตรกรนำมะพร้าวผลมาแปรรูปเป็นเนื้อมะพร้าวแห้งจำหน่ายให้แก่โรงงานแปรรูป โรงงานน้ำมันมะพร้าว ซึ่งอธิบดีกรมการค้าภายในในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อนุมัติเงินเร่งด่วนจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 33.48 ล้านบาท เพื่อนำร่องรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้ง 5,000-6,000 ตัน หรือคิดเป็นมะพร้าวลูกกว่า 50 ล้านลูกในพื้นที่แหล่งผลิตมะพร้าวสำคัญ 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งจังหวัดจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามสัดส่วนการผลิตมะพร้าว คือ ประจวบคีรีขันธ์ 13.4 ล้านบาท ชุมพร 10.7 ล้านบาท จ.สุราษฎร์ธานี 5.4 ล้านบาท และนครศรีธรรมราช 4 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้ให้จังหวัดกำหนดจุดรับซื้อให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร นำเนื้อมะพร้าวแห้งมาจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ และโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยเกษตรกรจะขายเนื้อมะพร้าวแห้งที่ความชื้นไม่เกิน 6% ได้ในราคาเป้าหมายนำกิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ผู้รับซื้อจ่ายให้ 10 บาท รัฐจ่ายเพิ่มให้ 5 บาท และให้ค่าบริหารจัดการคุณภาพและค่ารวบรวมอีก 1.50 บาท ซึ่งเป็นการใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมเกษตรกรเข้าไปแทรกแซงตลาดรวมกว่า 33 ล้านบาท โดยเกษตรกรจะได้ราคาขายมะพร้าวต่อลูกไม่ต่ำกว่า 7 บาทขึ้นไป แม้จะยังไม่เป็นที่ต้องการของเกษตรกรที่อยากขายมะพร้าวต่อลูกเกินกว่า 10 บาทนั้น ถือว่ามาตรการนี้จะช่วยพยุงราคาไม่ให้ต่ำไปมาก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
นอกจากนี้ กรมการค้าภายในจะเร่งหาแนวทางป้องกันการเคลื่อนย้ายหรือป้องกันปัญหาลักลอบนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านตามชายฝั่งทะเลทั้งตะวันออกและตะวันตกของภาคใต้ โดยการเคลื่อนย้ายใด ๆ เข้ามาจะต้องมีการแจ้งปริมาณและการเคลื่อนย้ายให้เจ้าหน้าที่ของค้าภายในจังหวัดได้รับทราบ ซึ่งจะนำมาตรการนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ (กกร. ) สัปดาห์นี้หรืออย่างช้าต้นสัปดาห์หน้าพิจารณาออกมาตรการแจ้งปริมาณและการเคลื่อนย้ายมะพร้าวตามชายชั่งทะเลกันต่อไป ขณะเดียวกันขอเรียกร้องห้ามนำเข้ามะพร้าวทั้งหมดจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น คงเป็นเรื่องลำบาก เพราะการนำเข้าจะอยู่ภายใต้กรอบการค้าสากลและมีระเบียบหรือกฎเกณฑ์และมาตรการดูแลกันอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าการนำเข้ามะพร้าวเป็นการขออนุญาตภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งห้ามไม่ได้ แต่กรมการค้าต่างประเทศก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวด และรับว่าจะนำข้อเสนอของเกษตรกรเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กกร. ซึ่งเกษตรกรเรียกร้องให้เพิ่มพื้นที่ควบคุมการขนย้ายมากขึ้นจากเดิมที่กำหนดเพียง 7 จังหวัดเป็นครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ รวมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดน อีก 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อเสนอให้ลดปริมาณมะพร้าวที่ต้องขออนุญาตก่อนขนย้าย จากเดิมกำหนดไว้ 7 ตัน ลดลงเหลือเพียง 4 ตัน เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ.-สำนักข่าวไทย