กรมบังคับคดี 16 ม.ค.-กรมบังคับคดี เผยยอดผลักดันทรัพย์ไตรมาสแรก ปี 62 ขายได้ กว่า 4 หมื่นล้าน จากเป้า 1.3 แสนล้านบาท
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยการเร่งผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบ ได้กำหนดค่าเป้าหมายในการผลักดันทรัพย์สินในปีงบประมาณ 2562 สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา130,000 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาสแรกสามารถผลักดันทรัพย์สินได้เป็นเงินจำนวน 46,274,145,932 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.60 ของเป้าหมาย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ.2561 สามารถผลักดันทรัพย์สินได้สูงกว่า คิดเป็นร้อยละ 44.59 โดยทรัพย์ประเภทห้องชุดขายทอดตลาดได้มาก ทำให้ขณะนี้มีทรัพย์ประเภทห้องชุดอยู่ในระบบ ร้อยละ 8
โดยผลของการขายทอดตลาด , การงดการบังคับคดีและการถอนการบังคับคดีไตรมาสแรกของปี 2562 สูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 50.89, 72.90 และ 30.21 ตามลำดับ เป็นผลจากการทำงานเชิงรุกทั่วประเทศและขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างยิ่งขึ้น มีทรัพย์รอการขายทอดตลาดทั้งที่ดินว่างเปล่า และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด รวมมูลค่า 243 ล้านบาท
ส่วนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ย จำนวน 5,847 เรื่อง สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 5,257 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 89.91 ทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 2 พันกว่าล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่หนึ่งของปีงบประมาณ 2561 สามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จสูงกว่า คิดเป็นร้อยละ 88.09 และทุนทรัพย์ไกล่เกลี่ยสำเร็จสูงกว่าคิดเป็นร้อยละ 96.87 โดยการจัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีหนี้ ก.ย.ศ.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ก.ย.ศ.ได้กำหนดเงื่อนไขใหม่ลดค่าเบี้ยปรับค้างชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีศักยภาพในการชำระหนี้ได้มากขึ้น โดยเดือนธันวาคม 2561 มีลูกหนี้ ก.ย.ศ. เข้าร่วมมหกรรมจำนวนทั้งสิ้น 7,329 ราย
นอกจากนี้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ กรมบังคับคดีจะลงพื้นที่เดินสำรวจพื้นที่ที่ประสบภัยพายุปาปึกในจ.พัทลุง, อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และอ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อสอบถามครอบครัวที่ประสบภัยรายใดต้องการเข้าสู่การไกล่เกลี่ยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นทำให้กรมบังคับคดีได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การบังคับทางปกครอง) เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการบังคับทางปกครอง(เฉพาะหนี้การเงิน)ให้ชัดเจน มีสาระสำคัญคือรัฐบาลต้องการให้กรมบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับการเงินกับหน่วยงานราชการส่วนกลาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คาดว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากนี้อีก 6 เดือน โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานของรัฐเป็นหนี้และต้องถูกบังคับชำระคืนรัฐ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ซึ่งต้องรอให้กรมบัญชีกลางประเมินตัวเลขให้ชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมียอดหนี้เท่าใด.-สำนักข่าวไทย