กรุงเทพฯ 11 ม.ค. – จีซีวางแผนเลิกผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งใน 5 ปีข้างหน้า รับกระแสรักษ์โลก ร่วมมือ ม.ศิลปากรใช้ไบโอพลาสติก และวิจัยกรดแลคติกเพื่อผลิต PLA จากน้ำตาลอ้อย
นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล หรือจีซี เปิดเผยว่า เพื่อตอบรับกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ลดการใช้พลาสติกทั่วโลก ทางบริษัทยอมรับว่าได้รับผลกระทบ บริษัทจึงตั้งเป้าหมายเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use) ที่มีประมาณ 150,000 ตัน/ปี จากกำลังผลิตทั้งหมด 2 ล้านตัน ปรับเป็นเม็ดพลาสตกิที่นำไปใช้ได้หลายครั้ง(MULTI USE ) เช่น นำไปผลิตท่อ สายไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเม็ดพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งส่วนใหญ่ นำไปใช้เป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือช้อปปิ้งแบ็ก (SHOPING BAG ) อย่างไรก็ตาม การจะยกเลิกก็ต้องพัฒนาไปพร้อมกับผู้ประกอบการผู้ผลิตถุง ซึ่งต้องเปลี่ยนไปใช้เม็ดพลาสติกประเภทชีวภาพหรือไบโอพลาสติกทดแทน
“กระแสรักษ์โลก ลดใช้พลาสติก ยอมรับว่าจะกระทบต่อจีซี ในแง่การใช้เม็ดพลาสติกครั้งเดียวทิ้งน้อยลงก็ต้องปรับตัวเลิกการผลิตประเภทนี้ใน 5 ปีข้างหน้า พร้อม ๆ กับการผลิตไบโอพลาสติก ทั้งประเภท Polylactic Acid (PLA)และประภท Polybutelene Succinate (PBS) ซึ่งใช้วัตถุดิบจากอ้อยและมันสำปะหลัง โดยน่าจะใช้จากอ้อยเป็นหลัก ซึ่งจะลงทุนเมื่อใดนั้นกำลังศึกษาวิจัยว่าผลิตวัตถุดิบที่จะใช้เป็นสารตั้งต้นทั้ง Succinic Acid และ Lactic Acid จะผลิตจากน้ำตาลจากอ้อยได้ผลดีที่สุดอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2562 และตัดสินใจลงทุนต่อไป ” นายปฎิภาณ กล่าว
นายปฎิภาณ กล่าวว่า ปัจจุบันจีซีมีโรงงานผลิต PBS กำลังผลิต 20,000 ตัน/ปี แต่ผลิตจริงประมาณ 4,000 ตัน/ปี เนื่องจากราคาแพงกว่าเม็ดพลาสติกจากปิโตรเลียมประมาณ 4 เท่า ในขณะนี้ได้เร่งทำตลาดและเชิญชวนให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศใช้ PBS เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ PLA มีราคาแพงกว่าเม็ดพลาสติกปิโตรเคมีประมาณ 1 เท่าตัว 2 ประเภทนี้ มีคุณสมบัติและราคาแตกต่างกัน จึงกำลังศึกษาว่า หากนำ 2 ประเภทมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกผสมกัน แล้วราคาจะถูกลงก็น่าจะได้รับการตอบรับจากตลาดมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ล่าสุดในวันนี้ จีซี ได้ร่วมลงนามกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมประเภทไบโอพีบีเอส เพื่อผลิตเป็นแก้วและหลอดเคลือบไบโอพลาสติกซึ่งย่อยสลายง่าย และร่วมวิจัยในการผลิตไบโอพลาสติกที่ผลิตจากอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะกรดแล็คติกซึ่งเป็นกรดสำคัญในการผลิต PLA
นายปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศิลปากรยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จับมือกับจีซี ในการสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ โดยพัฒนาเป็นแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก ภายใต้นโยบาย Be Smart Be Green ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของประชาคมทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย ดังม็อตโต All We Can Do โดยหลอดไบโอพลาสติกเป็นผลงานการวิจัยของคณาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.-สำนักข่าวไทย