กรุงเทพฯ 4 ม.ค. – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา แปลงนำร่องอุตรดิตถ์และพิษณุโลกเก็บฝักได้กำไรกว่า 4,500 บาทต่อไร่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุผลผลิตที่จะเริ่มออกเดือนมีนาคมคาดว่าไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 9 บาท
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาปีการผลิต 2561/2562 มีเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการ 96,928 ราย พื้นที่ 814,916 ไร่ (ข้อมูลวันที่ 4 มกราคม 2562) ปีนี้เป็นปีแรกที่กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมปฏิบัติ ทำให้ประสบผลดีอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการมา 3 ปี โดยปีการผลิต 2559/2560 มีเกษตรกรสมัครใจเข้าโครงการ 16,545 ราย พื้นที่ 148,949 ไร่ และปีการผลิต 2560/2561 มีเกษตรกรสมัครใจเข้าโครงการ 67,369 ราย พื้นที่ 452,827.75 ไร่ ดังนั้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพื้นที่สมัครมากกว่าเท่าตัว ทั้งนี้ การรับสมัครยังรับสมัครถึงวันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งยังคงมีเกษตรกรสนใจที่จะร่วมโครงการและอยู่ระหว่างขั้นตอนการสมัครจำนวนมาก
นายสำราญ กล่าวว่า จากโครงการนำร่องที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนกันยายน 2561 เกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการกว่า 206 ราย พื้นที่ 3,025 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตรวม 3,454.72 ตัน เกษตรกรสามารถขายได้ที่ความชื้นประมาณ 27 – 30% โดยราคาที่จุดรับซื้อของสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ อุตรดิตถ์ประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัม คาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 8,365 บาทต่อไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,810 บาทต่อไร่ (ข้อมูลวันที่ 4 ม.ค. 62) จึงจะได้กำไรถึง 4,555 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ ตรวจสอบราคารับซื้อข้าวโพดที่จังหวัดสระบุรี เกษตรกรขายข้าวโพดเก็บเกี่ยวสดที่หน้าแปลงความชื้น 25% ราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาท ส่วนที่ความชื้น 14.5% หน้าโรงงานอาหารสัตว์สูงถึง 10 – 10.25 บาท
นายณรงค์ วงศ์ธรรมสรณ์ ผู้อำนวยการจัดซื้อและสำรวจวัตถุดิบ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่และเตรียมพร้อมที่จะรับซื้อข้าวโพดหลังนาของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์อย่างไม่จำกัด เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศขาดแคลนวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์จำนวนมาก แต่ละปีไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 5 ล้านตัน มีความต้องการถึงประมาณ 8 ล้านตัน จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะมีการนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศบางส่วนแล้วก็ยังมีความขาดแคลนอยู่อีก 1.4 ล้านตันต่อปี ขณะที่บริษัทฯ มีความต้องการ 800,000 – 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนต้องหาวัตถุดิบอื่น ๆมาเพิ่ม อาทิ ข้าวสาลี ปลายข้าว ดังนั้น โครงการข้าวโพดหลังนาของรัฐบาลตลาดยังมีอนาคตอีกยาวไกลเกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องผลผลิตไม่ได้ราคาหรือล้นตลาด คาดว่าผลผลิตที่จะออกตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปนั้นจะไม่ต่ำกว่า 9 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ที่สำคัญข้าวโพดถือเป็นพืชเงินสดขายแล้วเกษตรกรได้รับเงินสดทันที ทำให้ชาวนาสนใจร่วมโครงการมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
บริษัท เบทาโกได้ร่วมดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าว 2 ปี คือ ปี 2559 รับซื้อผลิต 60,000 ตัน ปี 2560 รับซื้อ 25,000 ตัน ลดลงจากปี 2559 เพราะราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีตัวเลือกในการจำหน่ายมากในตลาดที่หลากหลายขึ้น ส่วนปี 2561 รับซื้อไม่จำกัดจนกว่าจะเพียงพอและยังมีความต้องการข้าวโพดสำหรับผลิตอาหารสัตว์อีกจำนวนมาก
ส่วนการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร โครงการกำหนดให้มีการทำความตกลงกับผู้รับซื้อ และหาตลาดให้แก่เกษตรกร โดยรับซื้อตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์กิโลกรัมละ 8 บาท ที่ความชื้น 14.5% สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เป็นจุดรวบรวมและรับซื้อผลผลิต เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 จึงพิจารณาจากราคาช่วงมกราคม– มิถุนายน โดยราคาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ความชื้น 14.5% ช่วงนี้ของปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.29 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2560/61 อยู่ที่ 4,624.53 บาท/ไร่ ทั้งนี้ หากเกษตรกรดูแลข้าวโพดให้มีผลผลิตต่อไร่มากขึ้น ต้นทุนจะลดลง
ในปีนี้ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการกำหนดจุดรับซื้อ โดยวางระบบให้สหกรณ์การเกษตรเป็นหน่วยธุรกิจขับเคลื่อนหลักในการดำเนินโครงการ ตั้งจุดรับซื้อทั้งหมด 324 จุด แบ่งเป็นจุดรับซื้อของสหกรณ์ 292 จุด และจุดรับซื้อของเอกชน 32 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 386 อำเภอ ใน 37 จังหวัด.-สำนักข่าวไทย