กรุงเทพฯ 14 ธ.ค. – เวทีเสวนาทีดีอาร์ไออัดยับ ชี้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลแค่หาเสียงก่อนเลือกตั้ง ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ จี้ใช้จ่ายงบประมาณให้เคารพสิทธิ์ผู้เสียภาษี
ในช่วงเช้าที่ผ่านมามีการจัดเสวนาหัวข้อ “สวัสดิการประชาชน และมาตรการแก้จน บนโจทย์วินัยการคลัง” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงแนวทางที่รัฐบาล คสช.ดำเนินการขณะนี้มีความชัดเจนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ถือเป็นนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง โดยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจมหภาค รวมทั้งรัฐบาลควรดำเนินนโยบายที่เป็นโครงการถาวรเหมาะสมมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม นโยบายเกี่ยวกับการหาเสียงถือเป็นเรื่องปกติระบบการเมืองไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ควรดำเนินการให้ทิศทางนโยบายตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก
นายสมชัย ระบุว่าการดำเนินงานของรัฐบาล คสช.ในช่วงที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยจำนวนดังกล่าวถือว่าไม่มาก หากมีการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม แต่การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาการใช้งบประมาณไม่ได้แก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง รวมทั้งมีข้อสงสัยของการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก
ขณะเดียวกันนายสมชัย กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง เนื่องจากกำลังก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งและแต่ละพรรคเริ่มมีนโยบายหาเสียง ว่า ขอให้พรรคการเมืองยึดทัศนคติที่มีต่อคนจนที่ถูกต้อง มุ่งเน้นนโยบายสร้างความเข้มแข็งผู้มีรายได้น้อยอย่างยั่งยืน รวมทั้งเสนอนโยบายสามารถลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ จริงจังต่อการหารายได้เพิ่ม รวมทั้งบอกประชาชนว่านโยบายหาเสียงมีต้นทุนการคลังเท่าไหร่ และจะลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ประชาขนรวจสอบได้ในอนาคต
นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการดำเนินการของรัฐบาลปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลก้าวอ้างกับในอดีต เช่น รถยนต์คันแรก โครงการดังกล่าวชัดเจนว่าไม่ส่งผลดีต่อวินัยการเงินการคลังและเร่งการใช้จ่ายประชาชนรูปแบบที่ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับโครงการรัฐบาลปัจจุบัน เช่น โครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มผู้มีรายได้น้อย โดยกำหนดเงื่อนไขต้องเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 8,000 บาท และคืนแวตร้อยละ 5 ไม่เกิน 500 บาท โดยผู้มีรายได้น้อยจะได้คืนภาษีแวตเต็มวงเงินเมื่อใช้จ่ายเท่าสัดส่วนที่กำหนด ประเด็นดังกล่าวเร่งการใช้จ่ายของประชาชนอาจไม่สอดคล้องกับรายได้ที่มี รวมทั้งเห็นว่ามาตรการที่ คสช.นำมาใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำเพียงครั้งเดียวอาจได้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เกิน 1 ไตรมาส รวมทั้งบางโครงการ เช่น ช้อปช่วยชาติ ก็ไม่ได้มีผลครอบคลุมช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลทั้งปัจจุบันและอนาคตขอให้ยึดแนวทางเข้าใจว่าเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาใช้ควรเคารพสิทธิ์ผู้เสียภาษีที่เป็นเจ้าของเงินมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย