กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. – หอการค้าไทยเผยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้ พบว่าหนี้เฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังคงสัดส่วนหนี้ในระบบสูงกว่าหนี้นอกระบบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2561 โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจประชาชนทั่วประเทศหลายอาชีพ ทั้งรับราชการ รับจ้างรายวัน เจ้าของกิจการ พนักงานเอกชน แม่บ้าน ไปจนถึงเกษตรกร 1,203 กลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.4 มีหนี้สินเพื่อการใช้จ่ายทั่วไป และหนี้จากการซื้อยานพาหนะ รวมถึงหนี้เพื่อประกอบธุรกิจ โดยเฉลี่ยมีหนี้สูงถึง 316,623 บาทต่อครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากปี 2560 ที่เฉลี่ย 299,266 บาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ค้างเก่า ซึ่งมียอดการผ่อนชำระเฉลี่ยเดือนละ 15,925 บาท แต่ยังมีสัดส่วนหนี้ในระบบร้อยละ 64.7 ที่ยังสูงกว่าสัดส่วนหนี้นอกระบบที่ร้อยละ 35.3
ทั้งนี้ หากดูการก่อหนี้ปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่ามีการกู้นอกระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 จากปีก่อนร้อยละ 1.2 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซึมตัวลง จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง และสงครามการค้าเริ่มมีผลกระทบให้เศรษฐกิจ แม้ภาพรวมจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ยังกระจุกตัวเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น โดยสาเหตุของการเป็นหนี้ค่าครองชีพสูงขึ้น ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น และผ่อนสินค้ามากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 86.8 เคยประสบปัญหาการขาดผ่อนชำระหรือผิดนัดชำระเงิน เนื่องจากหมุนเงินไม่ทัน เพราะรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย และเชื่อว่าใน 6 เดือน หรืออีก 1 ปีข้างหน้า ยังมีโอกาสที่จะประสบปัญหาการชำระหนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีและรายได้ที่ได้รับลดลง
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองว่าภายใน 1 ปีนับจากนี้ยังมีความต้องการที่จะกู้เงินเพิ่ม เพื่อมาใช้จ่ายทั่วไป ชำระหนี้เก่า และลงทุนประกอบอาชีพ เนื่องจากมีความกังวลต่อภาพเศรษฐกิจของประเทศที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจภายในครอบครัว ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และดูแลค่าครองชีพ โดยควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย