พม. 25 พ.ย. – รมว.พม. ปล่อยขบวนเดินรณรงค์ ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงทุกรูปแบบ พร้อมประกาศkick off ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรง หวังรณรงค์ยุติความรุนแรงไปทั่วประเทศ พบจากการรณรงค์ต่อเนื่อง การแจ้งเบาะแสความรุนแรงลดลง
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดกิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีบุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในทุกรูปแบบ พร้อมทำพิธีปล่อยขบวนรณรงค์ยุติความรุนแรง ที่ ลานประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีทั้งหมด4 เส้นทาง เริ่มจากเส้นทางที่ 1 ลานประชาบดีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถึง ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร เส้นทางที่ 2 จากสำนักงานองค์การสหประชาชาติ UN ถึงลานคนเมือง เส้นทางที่ 3 จากโรงแรมรัตนโกสินทร์ถึงลานคนเมือง เส้นทางที่ 4 จากถนนข้าวสารถึงลานคนเมือง เพื่อสร้างกระแสสังคมให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาและนำไปสู่การรวมพลังของทุกภาคส่วนในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบภายใต้แนวคิด He for She ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,300 คน ทั้งทหาร ตำรวจ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภาคีเครือข่าย องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม นักเรียน นักศึกษา ดารา ศิลปินและประชาชนทั่วไป
พร้อมประกาศ Kick Off การรณรงค์ยุติความรุนแรงไปทั่วประเทศ รวมทั้ง ได้มอบริบบิ้นขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงแสดงออกถึงการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรง ให้แก่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อใช้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ยุติความรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมมินิคอนเสิร์ต แสดงทัศนคติของดาราศิลปินเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงต่อเด็กสตรีบุคคลในครอบครัวและความรุนแรงทุกรูปแบบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในทุกรูปแบบ นับเป็นปัญหาสำคัญ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปัญหาดังกล่าวปรากฏให้เห็นมาเป็นเวลานานและพบมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี หากสังคมส่วนรวมยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเสี่ยงสูง ไม่ได้รับการปกป้องหรือรู้เท่าทันปัญหาเท่าที่ควร หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี รัฐบาลจึงตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กสตรี และบุคคลในครอบครัวทุกปี โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการสตรีและ สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐ ในการประสานการดำเนินงานดังกล่าวกับภาคีภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างกระแสให้สังคม เกิดความตระหนักและตื่นตัวต่อปัญหา ร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กสตรีและบุคคลในครอบครัวอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และพบว่าจากการรณรงค์ต่อเนื่องทุกปี สถิติการแจ้งเบาะแสเข้ามายัง พม.มีจำนวนลดลง.-สำนักข่าวไทย