รัฐสภา 24 ต.ค.- กมธ.กม.ห้ามตีเด็ก แก้ไขให้ผู้ปกครองทำโทษบุตรด้วยการว่ากล่าวสั่งสอน เตรียมเสนอสภาฯ หากผ่าน ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 68 ของโลก และประเทศที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน ที่ใช้กม.ยุติความรุนแรงต่อเด็ก
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก โดยมีนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานกมธ.พร้อมด้วยนายวีรภัทร คันธะ โฆษก กมธ.ฯ แถลงว่า ขณะนี้ กมธ.ฯ ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จสิ้น และได้จัดทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งกมธ.ได้พิจารณาแก้ไขในมาตรา 1567( 2 ) ซึ่งเป็นมาตราเดิมที่กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ์ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน เนื่องจาก กมธ.เห็นว่าควรที่จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้รับทราบเกี่ยวกับแนวทางในการเลี้ยงดูเชิงบวกที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก ซึ่งกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2478 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 89 ปี แต่ไม่ได้มีการแก้ไขในเรื่องว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรโดยเฉพาะมาตรา 1567( 2 ) ดังนั้นเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ครอบครัวอบอุ่นปราศจากความรุนแรงจึงจำเป็นต้องแก้ไขมาตราดังกล่าว
โฆษกมธ. กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในเด็กปี 2565 ระบุว่า องค์การยูนิเซฟประเทศไทยได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าเด็กอายุระหว่าง 1 ถึง 14 ปีมากกว่าครึ่งหนึ่ง ได้รับการอบรมโดยวิธีการรุนแรง โดยมีเด็กร้อยละ 38.6 ได้รับการอบรมโดยการลงโทษทั้งร่างกาย ดังนั้นการแก้ไขมาตราดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก แทนที่จะใช้ความรุนแรงในการลงโทษโดยเปลี่ยนวิธีในการเลี้ยงเด็กเพื่อความรักและความเข้าใจ หากลงโทษแล้วเด็กกลัวอาจทำให้เด็กเกิดความไม่ไว้วางใจกับผู้ปกครองได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมี 67 ประเทศที่มีกฎหมายใช้ความรุนแรงต่อร่างกายเด็ก หากประเทศไทยแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะสะท้อนถึงการยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก และประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ 68 ของโลกและเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายฉบับนี้.-315 .-สำนักข่าวไทย