พม.19 พ.ย.-โพล พม.พบความรุนแรงในครอบครัวทำเด็กก้าวร้าวเก็บกด เสี่ยงความรุนแรง ขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ต มีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบความรุนแรงมากที่สุด
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พม.โดย พม. POLL ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) 1-12 ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สำรวจความคิดเห็น ต่อประเด็น“ความรุนแรงในสังคมไทย ลดลงได้ด้วย(ใคร?) คุณ”จากประชาชน 4,800 คน ระหว่างเดือนต.ค.-พ.ย.2561 พบว่า ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยที่ประชาชนนึกถึง ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.04 นึกถึงการทำร้ายร่างกาย เช่น ทะเลาะวิวาท การทุบ ตี ต่อย เตะ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงมากที่สุด อันดับแรกคือสุรา/ยาเสพติด รองลงมาคือการอบรมเลี้ยงดู ตามด้วยการคบเพื่อน และความ เครียด นอกจากนี้ร้อยละ 52.60 ระบุความรุนแรงในครอบครัวมีผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือเก็บกดในระดับมากที่สุด
ส่วนประเภทสื่อที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องความรุนแรงทางสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบมากที่สุด อันดับแรกคือสื่ออินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ ยูทูป รองลงมาคือสื่อสังคมออนไลน์ คลิปวิดีโอ ไลฟ์สดและละคร
เมื่อถามถึงการนำเสนอเรื่องการกระทำความรุนแรงในสังคมบ่อยครั้ง มีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 44.65 ระบุว่า มีผลในระดับมาก ขณะที่ร้อยละ 36.10 ระบุมีผลในระดับมากที่สุด
นายปรเมธี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ประชาชนจะทำหากพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคม ส่วนใหญ่ระบุจะแจ้งเหตุผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สายด่วน 191 แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย และศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 พม.
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคม ร้อยละ 53.07 ระบุการบังคับใช้กฎหมาย มีบทลงโทษที่เด็ดขาด รองลงมา ร้อยละ 48.81 ระบุการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว/อบรมสั่งสอน และร้อยละ 46.60 ระบุการให้ความรู้การยุติความรุนแรงตั้งแต่เด็ก เมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม ร้อยละ 26.27 ระบุไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรง และร้อยละ 25.29 ระบุไม่ใช้อารมณ์หรือกำลังในการตัดสินปัญหา
ส่วนการลดปัญหาความรุนแรงในสังคมควรเป็นหน้าที่ของใคร ส่วนใหญ่ร้อยละ 42.79 ระบุเป็นหน้าที่ของตนเอง รองลงมาร้อยละ 34.06 ระบุเป็นหน้าที่ของครอบครัว และร้อยละ 10.15 ระบุตำรวจ/พนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ .-สำนักข่าวไทย