สิงคโปร์ 15 พ.ย. – นายกรัฐมนตรี รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียน ประกาศสานต่อแนวคิดเมืองอัจฉริยะ พร้อมเดินหน้าสร้างอาเซียนเข้มแข็ง ชูสโลแกน”ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”
“จิตตานันท์ นิกรยานนท์” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ติดตามภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2561 รายงานว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังพิธีรับมอบค้อนประจำตำแหน่งประธานอาเซียน ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการซันเทค สิงคโปร์ ว่า ขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และทีมประธานอาเซียนของสิงคโปร์ สำหรับความสำเร็จในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ที่มีความเข้มแข็งและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ไทยจะสานต่อประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญในปีนี้ โดยเฉพาะเรื่องเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน เพื่อสร้างความต่อเนื่อง และให้เกิดผลอย่างยั่งยืนให้กับประชาคมอาเซียน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังการก่อตั้งอาเซียนที่กรุงเทพฯ ในปี 2510 ผ่านมา กว่า 5 ทศวรรษแล้ว อาเซียนได้เป็นประชาคม ในภูมิภาคที่มีสันติภาพและความมั่นคง มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับ 6 ของโลก และมีแนวโน้ม ที่จะก้าวไปสู่ลำดับที่ 4 ของโลกภายในปี ค.ศ. 2030 มีบทบาทที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศและเป็นแกนกลาง ในสถาปัตยกรรมภูมิภาค อย่างไรก็ตาม อาเซียนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย อาทิ การแข่งขันทางการค้าและการเมือง เทคโนโลยีก้าวกระโดด อาชญากรรมข้ามชาติ ความเหลื่อมล้ำ และความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้ง 10 ประเทศจะต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของเอกภาพอาเซียนและหลักการสามเอ็ม (3Ms) คือ การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (mutual trust) ความเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) และผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit) เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และเกิดความยั่งยืนให้กับอาเซียนในทุกมิติ
“ผมมีความภูมิใจที่จะประกาศแนวคิดสำหรับปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1. “การก้าวไกล” (Advancing) โดยให้อาเซียนมองและก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยีก้าวกระโดด และความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะส าหรับ MSMEs เพื่อก้าวไปสู่ดิจิทัลอาเซียน (Digital ASEAN)” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 2. ” การร่วมมือ ร่วมใจ” (Partnership) ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียนและกับประเทศคู่เจรจาและประชาคมโลก โดยการเสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนพลัสวัน และโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ โดยคำนึงถึงความสมดุลและประโยชน์ ต่อประชาชน และเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับอาเซียน คือการส่งเสริมความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ การเชื่อมโยงประชาชน โดยเฉพาะในบริบทของปีวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. 2019 รวมถึงการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อก้าวไปสู่อาเซียนที่ไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN) และ 3. “ความยั่งยืน” (Sustainability) คือ การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงที่ยั่งยืน ความยั่งยืนด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและมีนวัตกรรม จะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้.-สำนักข่าวไทย