มาเลเซีย 27 พ.ค. – นายกฯ ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ – จีน ชี้ มีขนาดเศรษฐกิจเกือบ 1 ใน 4 ของ GDP โลก มีโอกาสร่วมกันกำหนดแนวทางใหม่รับมือความไม่แน่นอนเศรษฐกิจ ย้ำ กรอบ “3M” ขับเคลื่อนความร่วมมือพหุภาคี สนับสนุนการขนส่งให้รวดเร็วในทุกมิติ
วันนี้ (27 พ.ค. 68) เวลา 15.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งตรงกับเวลา 14.45 น.ในประเทศไทย ณ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 3 ศูนย์ประชุม Kuala Lumpur Convention Center (KLCC) ประเทศมาเลเซีย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ – จีน (ASEAN – GCC – China Summit) ประกอบไปด้วยผู้นำประเทศ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับประเทศจีน โดยนายหลี่ เฉียง (H.E. Mr. Li Qiang) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนและผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม
นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมประเทศมาเลเซีย ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์นี้ และมองว่าอาเซียน GCC และจีน ซึ่งรวมกันมีขนาดเศรษฐกิจเกือบ 1 ใน 4 ของ GDP โลก และกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญท่ามกลางภูมิทัศน์โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จึงมีโอกาสร่วมกันกำหนดแนวทางใหม่ของการเติบโตที่ครอบคลุม ยั่งยืน และมีความเป็นหุ้นส่วนมากขึ้น


โดยนายกรัฐมนตรี ได้เสนอกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “3M” ซึ่งประกอบด้วย 1. การเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยม (Multilateralism) 2. การส่งเสริมความคล่องตัวของทรัพยากร (Mobility) และ 3. การระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Mobilisation) ซึ่งจะช่วยหล่อหลอมความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ระหว่างทั้งสามภูมิภาค
สำหรับ กรอบที่ 1 ในการเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยม (Multilateralism) นั้น นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าเสรีพหุภาคี บนพื้นฐานของกฎระเบียบระหว่างประเทศ ความเปิดกว้าง และความโปร่งใส ซึ่งถือเป็นรากฐานของความไว้วางใจและความร่วมมือที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในบริบทที่โลกกำลังเผชิญกับกระแสกีดกันทางการค้าและการออกมาตรการฝ่ายเดียวที่รุนแรงขึ้น
กรอบที่ 2 ในการส่งเสริมความคล่องตัวของทรัพยากร (Mobility) นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การขนส่งสินค้า การลงทุน การบริการ และทุนมนุษย์ ที่ขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นกุญแจสำคัญต่อความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของทั้งสามภูมิภาค โดยไทยพร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือในด้านการค้าดิจิทัล e-commerce ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ การอำนวยความสะดวกทางศุลกากร ตลอดจนการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการอบรม การแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ และความร่วมมือระหว่างประชาชนระหว่างภูมิภาค
สำหรับกรอบที่ 3 ใน การระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Mobilisation) นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งระดมทุน เทคโนโลยี และนวัตกรรมในสาขาที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงกับโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน อุตสาหกรรมฮาลาล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซมิคอนดักเตอร์ ฟินเทค การเงินสีเขียว และพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของทั้งสามฝ่าย ซึ่งต่างมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันผ่านกรอบความร่วมมือ “3M” เพื่อการเติบโตที่สร้างสรรค์และยั่งยืน นำไปสู่อนาคตร่วมกันที่มั่นคงของอาเซียน GCC และจีน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ภายหลังการหารือ ที่ประชุมฯ ได้รับรองเอกสาร 1 ฉบับ คือ แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ และสาธารณรัฐประชาชนจีน (Joint Statement Summit of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN), the Gulf Cooperation Council (GCC) and the People’s Republic of China) .-316 -สำนักข่าวไทย