กรุงเทพฯ 26 ต.ค. – แบงก์รัฐแนะให้ ธปท. คุมเข้มอสังหาฯ แยกรายกลุ่ม ขยายเวลาจากกำหนดเดิมบังคับใช้ 1 ม.ค.62 ผ่อนคลายบ้านหลังที่ 3 กลุ่มคนปานกลาง รายย่อย ยังต้องดูแล
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (สภา SFIs) เปิดเผยว่า กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย อัตราส่วนของเงินกู้ต่อมูลค่าของสินทรัพย์ (Loan to Value : LTV ratio) โดยเห็นด้วยกับหลักแนวคิดและทฤษฎี ในการส่งเสริมให้มีการออมเงินก่อนการกู้ยืม และควบคุมดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้มีมาตรฐาน
สำหรับแนวทางของ ธปท.ต้องการควบคุมวงเงินสินเชื่อให้ลดลง จากปกติที่ปล่อยกู้เฉลี่ยร้อยละ 90-95 ของราคาหลักทรัพย์ ลดเหลือไม่เกินร้อยละ 80 ของหลักทรัพย์พร้อมกับนำสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กู้เพื่อตกแต่งบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์วงเงินร้อยละ 5-10 รวมอยู่ในวงสินเชื่อด้วยกัน เห็นด้วยสำหรับการคุมเข้มกับบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท และการควบคุมผู้มุ่งหาประโยชน์ตอบแทนสูงจากการเก็บซื้อเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ แต่ในส่วนของแบงก์รัฐ อย่างเช่น ธอส. ออมสิน ส่วนใหญ่มุ่งปล่อยสินเชื่อบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ราคา 2-3 ล้านบาท
กลุ่มคนเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการเก็บออมเงินดาวน์ กว่าจะตัดสินใจซื้อบ้าน และมักจะซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ขณะที่คนรวยมีเงินเก็บ กระเป๋าหนัก คอยมองหาผลตอบแทนสูง นับว่าแตกต่างกันมาก ธปท. อาจต้องมองให้ละเอียดแยกกลุ่มดูแลให้ชัดเจน ส่วนใหญ่เมื่อซื้อหลังแรก มักจะราคาไม่แพง เพราะเงินเดือนน้อย เมื่อการงานดีเติบโต เงินเดือนสูง มักจะขยายครอบครัว ซื้อหลังที่สอง โดยชวนญาติ พ่อ แม่มาอาศัยอยู่ด้วย ธอส. จึงเสนอ ควบคุมดูแลเป็นรายกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อยและปานกลาง ซี่งกำลังผ่อนบ้านหลังที่ 2 และควรขยายเวลาบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.62 ออกไปในปี 63 เพราะในปีนี้เหลือเวลา 2 เดือน ชาวบ้านยังปรับตัวไม่ทันแน่นอน และอาจทะยอยการบังคับใช้ เช่น สัดส่วนปล่อยกู้ร้อยละ 90 ของราคาประเมินสินทรัพย์ในปี 62 จากนั้นลดสัดส่วนเหลือร้อยละ 80 ในปี 63 เพื่อให้เวลาปรับตัว
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ต้องการให้ ธปท.นำความเห็นและเหตุผลของผู้เกี่ยวข้องมาพิจารณาผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นของธนาคาร ประชาชน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขายวัสดุก่อสร้าง ขายเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ของตกแต่ง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมทำให้ยอดขายลดลงได้
“ยอมรับว่าเกณฑ์ใหม่ของธปท. ช่วยให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มีคุณภาพขึ้น เพราะความเสี่ยงลดลง และ ไม่ให้เกิดปริมาณที่อยู่อาศัยในตลาดสูงกว่าความต้องการ แต่ในทางกลับกัน อาจทำให้รายใหม่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ยากขึ้น กระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น คนรับเหมาก่อสร้าง การจ้างงานลดลง รวมถึงร้านขายเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ของตกแต่งบ้าน วัสดุก่อสร้าง อาจมีปัญหาตามมา ในมุมมองของธนาคารออมสิน คล้ายกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เสนอให้บังคับใช้เกณฑ์ตั้งแต่บ้านสัญญาหลังที่ 3 ขึ้นไป และเสนอให้เลื่อนกำหนดเวลาใช้จากเดิมในวันที่ 1 ม.ค.62 ออกไปก่อน” นายชาติชาย กล่าว
ส่วนตัวมองว่าสำหรับการซื้อบ้านหลังแรกคงไม่มีการเก็งกำไร จึงควรผ่อนปรนเกณฑ์ แต่ถ้าเป็นการซื้อคอนโดมิเนียมในเมือง อาจมีการลงทุนบ้าง รวมถึงที่อยู่อาศัยเกินหลังที่สอง ควรออกเกณฑ์ป้องกัน แต่การปล่อยกู้ของธนาคารออมสินช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ปล่อยกู้ประมาณ ร้อยละ 70-80 เป็นการปล่อยกู้บ้านราคาหลังไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อย . – สำนักข่าวไทย