ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ 4 ต.ค.-คลังเตรียมเชิญเอกชนหารือลดผลกระทบ มาตรการคุมสินเชื่ออสังหาฯของ ธปท. ขณะที่ภาค อสังหาฯระบุไม่พบสัญญาณฟองสบู่ แนะผ่อนปรนมาตรการอาจกระทบผู้ซื้อเงื่อนไขเดิม ยอดซื้อเก็งกำไรหดหายไปมาก
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ต.ค. 61 คลังเตรียมเชิญผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร หารือจากผลกระทบมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อสะท้อนผลกระทบและเสนอแนวทางบรรเทาความเดือดร้อน แต่ไม่อยากให้คาดคะเนกันเองว่ามาตรการออกมาจะมีผลกระทบรุนแรง และการส่งสัญญาณของ ธปท. เพื่อให้ตลาดระมัดระวังมากขึ้น โดยจากการรายงานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบะว่าการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขณะนี้ยังไม่มีความน่ากังวลมากนัก เพราะปริมาณบ้านรอการขายในตลาดปีนี้ น้อยกว่าปีก่อน ขณะที่ปริมาณการโอนที่อยู่อาศัยสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนยอดการจองยังทรงตัว ไม่พบความผิดปกติ จึงไม่ต้องกังวลอะไรมากเกินไป
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การออกมาตรการคุมการปล่อยสินเชื่อต่อราคาที่อยู่อาศัย (LTV) อาจกระทบต่อภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ และยังเป็นการลงโทษผู้ซื้อบ้านช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ใช้เงื่อนไขเดิม และมองว่าการประกาศใช้มาตรการของ ธปท.เหมาะสมกับช่วงเวลานี้หรือไม่ เพราะการเก็งกำไรแทบจะไม่มีแล้ว เนื่องการซื้อคอนโดมิเนียมมากกว่าร้อยละ 70 ผู้ซื้อเข้าอยู่อาศัยเอง บ้านเข้าอยู่อาศัยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่การซื้อขายในตลาดมือสอง ชะลอลงมาก อีกทั้งการควบคุมการเก็บกำไร ควรควบคุมเพียงบางพื้นที่ เช่น ภูเก็ต พัทยา อาจต้องใช้เวลาในการระบายสินทรัพย์ออก 1-2 ปี และยอดหนี้ NPL ที่เกิดขึ้นช่วง 3-4 ปีก่อนเพียงร้อยละ 0.02 ดังนั้นควรให้ผู้ซื้อบ้านช่วงที่ผ่านมาได้ปรับตัว ไม่ควรนำมาบังคับใช้กับมาตรการดังกล่าว
ทั้งนี้ยอมรับว่าภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนร้อยละ 9 ของจีดีพีนับว่าสูงมาก หากมาตรการ ธปท.ออกมา กระทบอสังหาฯลดลงร้อยละ 10-20 กระทบต่อจีดีพีของประเทศลดลงถึงร้อยละ 1 และกระทบไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้รับเหมาตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในบ้าน ทีวี เครื่อใช้ไฟฟ้ากว่า 6 แสนล้านบาทกระทบไปด้วยในทางอ้อม มองว่ามาตรการคุมสินเชื่อของ ธปท. ต้องรับฟังความเห็นให้รอบด้าน ซึ่งปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยแนวราบและการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังแรก ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนกลุ่มคอนโดมิเนียม อาจต้องจำแนกให้ดี เพราะมีลูกค้าที่มีรายได้หลายหลาย และมีราคาขายที่แตกต่างกัน.-สำนักข่าวไทย