กรุงเทพฯ 3 ก.ย.-ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ชี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างเฉียบพลัน อาการจะแสดงออกได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต ทำให้คาดว่าสาเหตุการเสียชีวิตของสาวเลยไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการสักลาย
นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย อธิบายกรณีสาวชาวเลยวัย 22 ปี เสียชีวิตกะทันหัน และครอบครัวเชื่อว่าติดเชื้อเอชไอวีจากการไปสักลายที่ร้านย่านคลองหลอด กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่าผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีอย่างเฉียบพลัน ร่างกายจะแสดงอาการภายใน 3-4 สัปดาห์ โดยจะป่วยคล้ายเป็นหวัด มีไข้ เป็นผื่น แต่มั่นใจไม่ทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต ซึ่งกรณีสาวเลยรายนี้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ปวดเนื้อตัว ปวดขา และแขนขาอ่อนแรง ทำให้คาดว่าสาเหตุการเสียชีวิตไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการสักลาย
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ห้ามผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีสักลาย แต่ต้องมีการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด นอกจากร้านสักลายต้องทำความสะอาด เปลี่ยนเข็ม ผู้ติดเชื้อเองต้องกินยาต้านไวรัสอเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ มีวินัย ตรงเวลาต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน ซึ่งยาต้านไวรัสจะกดเชื้อเอชไอวีในเลือดให้ลดน้อยลง จนไม่สามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้
ส่วนการเปิดกิจการร้านสัก สำนักข่าวไทยตรวจสอบข้อมูลพบว่า ขั้นตอนการอนุญาต กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยต้องมีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และต้องขออนุญาตจากสำนักงานเขตแต่ละพื้นที่ ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบการมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติ คือ ต้องมีเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้น, มีหลักฐานการกำจัดอุปกรณ์ติดเชื้อ เข็มสัก ในสถานที่ที่สาธารณสุขรับรอง, มีหลักฐานรับรองคุณภาพสีที่ใช้ในการสักว่า ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือผิวหนังของมนุษย์, ต้องมีป้ายแสดงกฎข้อห้ามในการปฏิบัติตัวระหว่างสัก, ต้องกั้นแบ่งส่วนพื้นที่ในการสักอย่างชัดเจน และแยกส่วนพื้นที่ในการทำความสะอาดอุปกรณ์ รวมถึงต้องมีใบยินยอมในการสัก และลงชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้า
ปัจจุบันร้านสักที่มาจดทะเบียนถูกต้องใน กทม.มีประมาณ 50 ร้าน และในเขตพระนครมีประมาณ 15 ร้าน ขณะที่ กทม.มีหน้าที่จับปรับร้านสักลาย ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย พ.ศ.2535 เท่านั้น ซึ่งก็ยอมรับปัจจุบันร้านที่เปิดในลักษณะแบกะดิน กทม.ยังไม่ได้เข้าตรวจสอบ แต่อนาคตจะประชุมวางแนวทางแก้ปัญหา รวมถึงเรียกผู้ประกอบการมาอบรมให้ความรู้ เน้นความสำคัญเรื่องของสุขอนามัยให้กลุ่มอาชีพนี้
สำหรับกรณีสาวเลยสักลายเสียชีวิต และมีข้อมูลว่าเพื่อนที่ไปสักด้วยกันเสียชีวิตนั้น ข้อมูลที่สำนักข่าวไทยตรวจสอบ พบว่าใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่ที่ผู้เสียชีวิตเข้าไปรักษาตัว ขณะเดินทางไปหาป้าเมื่อเดือนกรกฎาคม ระบุว่า ติดเชื้อเอไอวี (เอดส์) ขั้นที่ 3 ก่อนผู้เสียชีวิตจะเดินทางกลับไปที่บ้านเกิด และเข้ารักษาตัวอีกครั้งที่โรงพยาบาลเลยในวันที่ 17 สิงหาคม ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 31 สิงหาคม โดยแพทย์เขียนในหนังสือรับรองว่า โรคที่เป็นสาเหตุการตาย มีด้วยกัน 3 โรค คือ Hypovolemic Shock หรือช็อกจากการเสียเลือดและน้ำ เป็นมาได้ 14 วัน โรค Acute Diarrhea หรืออุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นมาได้ 14 วัน และโรค Human Immunodeficiency Virus Infection หรือ HIV เป็นมาได้ 1 ปี
ส่วนโรคหรือภาวะที่ให้เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎรคัดเลือกลงในช่องสาเหตุการเสียชีวิตในใบมรณบัตร ซึ่งต้องเขียนเพียงโรคเดียว ระบุไว้ชัดว่า “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” การระบุสาเหตุการเสียชีวิต ทำให้เชื่อว่าผู้เสียชีวิตไม่น่าติดเชื้อเอชไอวีจากการสักลายที่คลองหลอด เนื่องจากเพิ่งไปสักลายเมื่อเดือนมีนาคม แต่ใบรับรองการเสียชีวิตยืนยันติดเชื้อมาได้ 1 ปี.-สำนักข่าวไทย