ชัยภูมิ 3 ก.ย. – เกษตรกรปลูกส้มโอ อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ พอใจโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมขยายพื้นที่โครงการครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอเพิ่มอีกเกือบ 100 รายในปีหน้า
ที่อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ปลูกส้มโอประมาณ 1,700 ไร่ เกือบทั้งหมดเป็นพันธุ์ทองดี มีเกษตรกรที่เข้าเป็นสมาชิกโครงการเกษตรแปลงใหญ่ 40 ราย พื้นที่กว่า 300 ไร่ ภายใต้ยี่ห้อ “ส้มโอหวานบ้านแท่น” หนึ่งในนั้นคือสวนพรหมประทานของลุงบุญมี นามวงษ์ อายุ 63 ปี เกษตรกรบ้านหนองผักหลอด ตำบลบ้านแท่น ผู้บุกเบิกนำส้มโอพันธุ์ทองดีจากนครปฐม มาปลูกในอำเภอบ้านแท่นเป็นคนแรกตั้งแต่ปี 2530 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนรอบข้าง ต้องใช้เวลาพิสูจน์นานเกือบ 10 ปี จึงเป็นที่ยอมรับว่าสามารถปลูกได้ผล และจำหน่ายได้ราคาดี ได้รางวัลที่ 1 จากการประกวดส้มโอพันธุ์ขาวทองดี ในวันเกษตรแห่งชาติ ปี 2543 การันตี จนชาวบ้านปลูกตามกัน ปัจจุบันมีเนื้อที่ปลูกรวมเกือบ 2,000 ไร่ จุดเด่นส้มโอบ้านแท่น เปลือกบาง เนื้อไม่แฉะ รสชาติหวานอมเปรี้ยว หอมอร่อย
ลุงบุญมี ปลูกส้มโอ 17 ไร่ ฤดูกาลเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ผลผลิตเฉลี่ยเดือนละ 10 ตัน ราคา 25-35 บาทต่อกิโลกรัม ส่งออกผ่านพ่อค้าคนกลางไปจีน ฮ่องกง และเวียดนาม กิโลกรัมละ 43 บาท รวมถึงยังได้ตอนกิ่งขายพันธุ์กิ่งละ 50 บาท
ส่วนศัตรูสำคัญ คือ หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟไรแดง ที่ต้องคอยตรวจสอบตลอด เพราะหากเกิดแล้วมักแก้ไขไม่ทัน ทำให้ผลผลิตเสียหาย และให้ใส่ปุ๋ยคอกระหว่างต้นปีละครั้ง ให้ปุ๋ยเคมีบำรุงทุกเดือน ระยะ 5-7 เดือน แต่ใส่ไม่เยอะ พื้นที่ 17 ไร่ ใช้เพียงเดือนละ 6-7 กระสอบเท่านั้น นอกจากนี้ ก่อนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 1 เดือน จะงดใช้สารเคมีทุกอย่าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ทำให้ลุงบุญมีได้รับคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ประจำปีนี้ เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ลุงบุญมี บอกว่า หลังเป็นแปลงใหญ่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาให้คำแนะนำ ทั้งการป้องกันโรคและการดูแลจัดการแปลงใกล้ชิดมากขึ้น สนับสนุนปัจจัยการผลิต สารปรับปรุงบำรุงดิน ช่องทางการตลาด และแหล่งเงินทุน การรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งยังได้ประโยชน์สูงสุด เพราะมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางมากขึ้น
นางมนชยา อินทรสกุล เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านแท่น ระบุว่า เกษตรกรในพื้นที่มีความตื่นตัว ลดพื้นที่นาหันมาปลูกส้มโอ เพราะมองเห็นความสำเร็จของกลุ่มส้มโอหวานบ้านแท่น ระยะหลังเจ้าหน้าที่เน้นให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช เรียนรู้พืชอาหารปลอดภัย เพื่อขยายพื้นที่รับรอง GAP เพิ่มการยอมรับ และขยายช่องทางการตลาด. – สำนักข่าวไทย