กรุงเทพฯ 17 ส.ค. – กรมการข้าวมั่นใจแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรทำให้ราคาข้าวที่ชาวนาขายได้มีราคาสูงขึ้น ขยายตลาดใหม่ และเพิ่มมูลค่าของผลผลิตข้าว
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 60/61 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทยที่ใช้นโยบายตลาดนำการผลิต โดยผลิตข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งประเภทข้าวและปริมาณผลผลิต การปรับโครงสร้างการผลิตข้าวดังกล่าวทำให้อุปสงค์กับอุปทานมีความสมดุลกัน ราคาข้าวจึงมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่อ่อนตัวลง ชาวนาขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น อีกทั้งการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน ทำให้ราคาข้าวปี 2561 ปรับสูงขึ้น ขณะนี้ชาวนาขายข้าวเปลือกเจ้าได้ตันละ 7,691- 8,162 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิราคาสูงขึ้นถึงตันละ 15,078 – 17,076 บาท
กรมการข้าวยังมีแนวทางส่งเสริมการปลูกข้าวที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดได้แก่ ข้าวสี ข้าวเพื่อสุขภาพ และข้าวพื้นนุ่ม เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและขยายตลาดเพิ่มเช่น ข้าวสังหยด ข้าวไรส์เบอรรี่ ข้าวพันธุ์ กข 43 ซึ่งมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพและผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมทั้งข้าวพันธุ์พื้นนุ่มได้แก่ พันธุ์กข 21 กข71 กข77 และพิษณุโลก 80 ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดจีน ในกลุ่มคนฐานะปานกลางถึงค่อนข้างดีเนื่องจากราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิ แต่อร่อยกว่าข้าวเจ้าทั่วไป
นายอนันต์กล่าวว่า การปลูกข้าวจำเป็นต้องพักดินบ้าง อีกทั้งในฤดูแล้ง มีน้ำน้อย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว และลดต้นทุนการผลิตของชาวนาเนื่องจากการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมทั้งคุณภาพดินและขาดแคลนน้ำทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ได้ผลผลิตต่ำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายปลูกพืชใช้น้ำน้อย อายุสั้น และเป็นที่ต้องการของตลาดทดแทนเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว พืชผัก เป็นต้น โดยจะสนับสนุนปัจจัยการผลิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การจัดสรรน้ำ รวมถึงการเชื่อมโยงตลาด ซึ่งจะมีผู้รับซื้อแน่นอน เกษตรกรจะมีรายได้สูงกว่าการขายข้าว อย่างเช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้กำไรไร่ละ 1,450 บาท ขณะที่ข้าวนาปรังให้ผลตอบแทนไร่ละ 306 บาท ดังนั้นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผลตอบแทนมากกว่าข้าวนาปรัง 1,144 บาท
นอกจากนี้การสลับไปปลูกพืชอื่น ยังทำให้ดินได้พัก ธาตุอาหารที่ข้าวต้องการไม่ถูกดูดซึมไปใข้หมด และตัดช่วงการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช เมื่อถึงฤดูฝนกลับมาปลูกข้าวนาปี จะทำให้ข้าวเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูง – สำนักข่าวไทย