สำนักข่าวไทย 23 ก.ค.-นักวิชาการ ยืนยันไขมันทรานส์ในไทยพบน้อย ร้อยละ1 เกิดจากกระบวนการผลิตและกฎหมายสกัดตั้งแต่ต้นทาง ขณะที่ปัจจัยการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มาจากการรับประทานไขมันอิ่มตัวมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย
ศาสตราจารย์วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าวิจัยโครงการประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์ กล่าวถึงกระแสความตื่นตัวของสังคมไทยต่อการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนหรือไขมันทรานส์ และอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ว่า ประเทศไทยรับอิทธิพลการทำขนมอบ หรือเบเกอรี่ ที่มีสูตรจากต่างประเทศ ทั้งพัพ พาย โดนัท ซึ่งกระบวนการในการทำขนมน้ำมันที่ใช้ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนทำให้เกิดไขมันทรานส์
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประเทศไทยได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตน้ำมัน และมีการปรับสูตรผลิตน้ำมันแล้ว ไม่มีการเติมไฮโดรเจน เข้าไปแล้ว แต่มีผู้ผลิตเบเกอรี่ ไม่กี่เจ้าที่ฝ่าฝืน แต่หลังกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้แล้วก็จะไม่มีในท้องตลาด
สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเนยขาว มาการีน ที่วางขายในท้องตลาดของไทยที่ประชาชนกังวลกันอยู่นั้น ก็ขอย้ำว่ามีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ไม่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่พบไขมันทรานส์ในท้องตลาดไทยสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ส่วนอีกร้อยละ 99 ปลอดภัย
ศาสตราจารย์วิสิฐ กล่าวต่อว่า ที่จริงแล้วไขมันที่ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรค หัวใจหลอดเลือด มาจากไขมันอิ่มตัวมากกว่าไขมันทรานส์ แต่ที่ต้องออกกฎหมายมาเพื่อห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายน้ำมันทรานส์เพราะในหลายประเทศที่เป็นแหล่งผลิตอาหารและต้นเป็นกำเนิดของไขมันทรานส์ต่างก็ออกมีกฎหมายควบคุมแล้ว เพราะฉะนั้นไขมันทรานส์ที่เขาผลิตแล้วอาจจะถูกส่งไปที่อื่นแทน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการไหลเข้ามาของไขมันทรานส์ ในประเทศ
ศาสตราจารย์วิสิฐ กล่าวด้วยว่า ในแต่ละวัน ควรกินไขมันทรานส์ไม่เกินร้อยละ 1 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน หรือส่วนไขมันอิ่มตัวกินไม่เกินร้อยละ 10 ต่อวัน ดังนั้นขอให้รับประทานให้พอเหมาะและออกกลังกายเป็นประจำ
ด้าน รองศาสตราจารย์วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดสูตรอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลกคือโรคหัวใจและหลอดเลือด และสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าวเพราะพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไปและขาดการออกกำลังกาย ซึ่งไขมันทรานส์ จะเข้าไปทำให้ไขมันดี (HDL) ลดลง
ขณะเดียวกันก็ไปทำให้ไขมันเลว(LDL)เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัว ถ้ากินเยอะก็ทำให้ไขมัมนเลวเพิ่มขึ้นเหมือนกัน ซึ่งถ้าดูตามลักษณะพฤติกรรมของคนในแต่ละประเทศแล้ว ยืนยันว่าการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานไขมันอิ่มตัวมากเกินร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน .-สำนักข่าวไทย