กาญจนบุรี 20 ก.ค. – รมว.พลังงานส่งสัญญาณให้ กกพ.ปรับเปลี่ยนกรรมการตามกฎหมาย ด้านเอ็มเอชพีเอสออกหนังสือแจงสินบนโรงไฟฟ้าไม่เกี่ยวกับลูกค้า
ในวันนี้ (20 ก.ค.) บริษัท มิตซูบิชิเพาเวอร์ซิสเต็มประเทศไทย ออกหนังสือชี้แจงกรณีติดสินบนการนำเข้าเครื่องจักรโรงไฟฟ้าขนอม 4 โดยบริษัทขอยืนยันว่าข้อเท็จจริง คือ เอ็มเอชพีเอสให้ความร่วมมือกับสำนักอัยการญี่ปุ่นในการดำเนินการสอบสวนคดีติดสินบน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่และชุมชนท้องถิ่นในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เมื่อเอ็มเอชพีเอสและผู้รับเหมาพยายามขนถ่ายเครื่องจักรขนาดใหญ่จากโรงไฟฟ้าขนอม 4 (Khanom IV) ไว้ที่ท่าเรือชั่วคราวใกล้เขตก่อสร้างโรงไฟฟ้า
ทางบริษัทขอยืนยันเพิ่มเติมว่าพนักงานเอ็มเอชพีเอสและผู้รับเหมาได้มีการจัดการปัญหาดังกล่าวโดยไม่ได้ปรึกษาลูกค้า ทางบริษัทขออภัยอย่างยิ่งสำหรับความไม่สะดวกที่เกิดกับลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องจากการรายงานข่าวที่ต่างกับข้อเท็จจริง
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโกตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนคำถามที่ว่าจะขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์บริษัทนี้หรือไม่ เป็นเรื่องเร็วเกินไปที่จะระบุ และยืนยันว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนกระทรวงพลังงานคำนึงถึงเรื่องธรรมาภิบาล การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ต้องรอผลการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อนกระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่
ส่วนการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าหรือ กกพ. 6 คน จะปรับอย่างไร รอบอร์ด กกพ.เสนอเพราะตามกฎหมายวาระแรกต้องออกกึ่งหนึ่งทุก 3 ปีแล้วสรรหาทดแทน โดยบอร์ด กกพ.ชุดนี้ทำงาน 4 ปีแล้วแต่งตั้งโดยคำสั่ง คสช.เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557
“ตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมการ กกพ.ชุดนี้ก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนในช่วง 4 ปี มีเพียงครบวาระ เพราะอายุ 70 ปีไป 1 คน จึงเหลือ 6 คน ซึ่งยืนยันว่าคณะกรรมการทุกคนไม่มีใครทำงานผิดพลาด หรือมีผู้ใดทำความผิดจากนโยบายและสามารถทำงานได้ดีมาตลอด ส่วนจะใช้วิธีใดในการปรับ ก็ให้ กกพ.เสนอมา”รมว.พลังงาน กล่าว
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า การจะยุบหรือไม่ยุบเรกูเลเตอร์เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวแต่หลักการ กกพ.ควรจะมีวาระตาม พ.ร.บ.ฯ ที่กำหนดไว้ 3 ปีแล้วควรจะลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้ชุดใหม่มาปฏิบัติงานที่มีความสร้างสรรค์
“ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมายังไม่พบว่า กกพ.ชุดนี้มีการออกกฎระเบียบใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมและการพัฒนาไฟฟ้า และกัลฟ์ฯ เป็นหนึ่งในเอกชนที่ฟ้องร้องต่อ กกพ. เราฟ้องเยอะมากฟ้องเยอะจริง ๆ “นายสารัชถ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกพ.ตั้งขึ้นมาภายใต้ พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่จะมีการคัดเลือกบุคคลมาทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงาน ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าไม่ควรเกิน 7 คน โดย คำสั่ง คสช. เมื่อ กรกฎาคม 2557 สั่งปลดบอร์ดชุดเดิมและตั้งชุดนี้มาใหม่ ขณะที่กฎหมายกำหนดให้บอร์ดชุดแรกต้องออก3 คนภายใน 3 ปี และที่เหลือ 4 คน ทำงานต่อให้ครบ 6 ปีแล้วเวียนจัดสรรคนใหม่เข้ามาทดแทน ดังนั้น หากดูตามกฎหมายจึงไม่ตรงกับคุณสมบัติบอร์ดชุดนี้ แต่ทางทีมรัฐบาลบางส่วนส่งสัญญาณที่จะให้มีการทำตามกติกาภายใต้ พ.ร.บ.ฯ ที่กำหนดไว้ เช่น เมื่อครบ 3 ปีต้องจับสลากออกครึ่งหนึ่งหรือให้ลาออกทั้งหมด เพื่อสรรหาใหม่. – สำนักข่าวไทย