กรุงเทพฯ 25 มิ.ย. – ส.อ.ท.เตรียมออกแบบสอบถาม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ถึงผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีน เพื่อเสนอภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือ พร้อมดึงเอสเอ็มอีร่วมขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสด
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.จะจัดทำแบบสอบถามกลุ่มอุตสาหกรรม 45 กลุ่มภายใต้ ส.อ.ท. ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวมกว่า 11,000 ราย โดยสอบถามถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและลบจากการที่สหรัฐและจีนทำสงครามการค้าระหว่างกัน ขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยยอดส่งออกคิดเป็นร้อยละ 12 ของการส่งออกทั้งหมด ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าปฐมภูมิไปจีน เพื่อนำไปผลิตต่อส่งออกไปสหรัฐ จึงจำเป็นต้องสอบถามผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยผลสำรวจนี้จะเสร็จภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นจะนำเสนอนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. เพื่อแถลงผลสรุปต่อสื่อมวลชน พร้อมกับนำผลสรุปดังกล่าวส่งให้กระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือต่อไป
นายเกรียงไกร และนายเสกสม อินทรลาวัณย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสาย SME Relationship Management & New Business UPC ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกันเปิดงาน “SCB FTI Factory outlet # 16 กิจกรรมสร้าง marketplace “ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กว่า 200 รายร่วมออกบูธ ถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งในการขยายเครือข่าย Cashless Socity ร่วมขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสดรับ-จ่ายเงินผ่าน Easy Pay แม่มณีด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ทที่วางหน้าบูธในงานที่ผู้ประกอบการที่นำสินค้ามาร่วมจำหน่ายและการจ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตผ่านเครื่องรับชำระเงิน EDC กิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นการสนับสนุนกลไกก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 อีกด้วย
นายเสกสม กล่าวว่า ระบบชำระเงินแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพปัจจุบันสามารถเข้ามาแทนที่การใช้เงินสดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตาม การมีระบบชำระเงินที่มีประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมได้ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงพยายามส่งเสริมและกระตุ้นกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า E-commerce ทั้งในฝั่งร้านค้าให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของรูปแบบการชำระเงินใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและช่วยการบริหารจัดการเงินสดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังกระตุ้นกลุ่มผู้บริโภคและผู้ซื้อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีและสร้างความคุ้นเคยในการใช้งานผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อีกด้วย
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีมากถึง 2.8 ล้านรายทั่วประเทศจัดทำบัญชีเล่มเดียว เพื่อภาครัฐจะได้มีข้อมูลไว้ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างถูกต้องทันท่วงทีจากที่ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีบัญชีกิจการหลายเล่ม. -สำนักข่าวไทย