กรุงเทพฯ 21 มิ.ย. – มีการเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดเผยข้อมูลที่ใช้พิจารณา จนนำไปสู่การมีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีวัตถุอันตรายพาราควอต และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีก 2 ชนิด วันนี้จะนำเสนอผลการศึกษาสำคัญ ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน ก่อนการลงมติดังกล่าวที่ยังคงเป็นที่กังขา ติดตามรายงานพิเศษ “เปิดข้อมูลพาราควอต พิษภัยกับผลประโยชน์” วันนี้นำเสนอเป็นตอนแรก
ภาคีเครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเสต หรือยาฆ่าหญ้า และคลอร์ไพริฟอส หรือยาฆ่าแมลง ยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ ห้ามนำเข้าไทย และไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาคประชาชนกับรัฐ เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอผลกระทบ เพราะมองว่าเป็นเกมการถ่วงเวลา
ปลายเดือนที่แล้ว คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้ใช้สารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิดนี้ต่อไปได้ อ้างข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังมีไม่เพียงพอ และให้กรมวิชาการเกษตรไปหาแนวทางจำกัดการใช้ที่เหมาะสมภายใน 60 วัน แต่กลับไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนถึงงานวิจัยและข้อมูลที่ใช้พิจารณา
มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ศึกษาการใช้สารเคมีเหล่านี้ มีผลทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน เช่น งานวิจัยการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในแม่และทารก โดยศึกษาระดับไกลโฟเสต และพาราควอต ในซีรัมหรือเลือดที่สกัดแล้วของมารดาและสายสะดือทารก ซึ่งมีการนำผลวิจัยนี้เสนอต่ออนุกรรมการวัตถุอันตรายด้วย โดยผู้วิจัยอธิบายว่า ใช้กลุ่มตัวอย่างจากโรงพยาบาล 3 แห่ง ที่กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ พบข้อมูลสำคัญหลายเรื่อง เช่น มีการถ่ายทอดสารเคมีทั้ง 2 ชนิด จากมารดาสู่ทารก ผ่านทางรกและสายสะดือ โดยพาราควอตถ่ายทอดได้มากกว่าไกลโฟเสต และพบพาราควอตในซีรัมมารดาที่อยู่และไม่อยู่ในพื้นที่เกษตรไม่แตกต่างกัน
นักวิชาการด้านพืชที่เข้าให้ข้อมูลต่ออนุกรรมการอีกรายหนึ่ง ระบุว่า การปลูกพืชเศรษฐกิจยังจำเป็นต้องใช้สารเคมี เพื่อเพิ่มผลผลิต หากใช้ถูกวิธีจะส่งผลกระทบน้อย สารพาราควอต เมื่อฉีดพ่นลงดินจะถูกอนุภาคดินจับไว้ แม้จะสลายตัวได้ แต่จะสะสมในดิน พาราควอตจะเผาไหม้เฉพาะใบที่มีคลอโรฟิลล์ ทำให้ใบไหม้ ออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที แต่จะไม่ซึมสู่รากพืช ต่างจากไกลโฟเสตที่ดูดซึมเข้ารากได้ จึงมีความนิยมใช้พาราควอตแทนไกลโฟเสต
ข้อมูลการนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในปีที่แล้ว พบว่า มีการนำเข้ายาฆ่าหญ้าพาราควอต 44.5 ล้านกิโลกรัม นำเข้าไกลโฟเสตเกือบ 60 ล้านกิโลกรัม ยาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 3.7 ล้านกิโลกรัม มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด สวนทางกับมติร่วมระหว่างสาธารณสุขกับอีก 5 กระทรวง ที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในเดือนธันวาคม 2562 และจำกัดการใช้สารไกลโฟเสต
นโยบาลรัฐที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งใช้กันมายาวนานกว่า 50 ปี และหากยกเลิกจะมีแนวทางใดมาทดแทน เป็นประเด็นที่เกษตรกรให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้. – สำนักข่าวไทย