กรุงเทพฯ 21 มิ.ย. – หลังรัฐบาลสั่งระงับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างปัญหาหลายพื้นที่ หลายฝ่ายสนับสนุนแนวทางดังกล่าว และคาดว่าใช้กฎหมายปกติแก้ไขปัญหาได้ โดยไม่ต้องอาศัยมาตรา 44
รัฐบาลเดินหน้าจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่ถูกต้อง หลังตรวจพบในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ ออกมาตรการเร่งด่วนให้ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาบาเซล
และกรณีที่พบการสำแดงเท็จ จะผลักดันให้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับไปยังประเทศต้นทาง อีกทั้งหากนำเข้ามาและส่งไปโรงงานกำจัดที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต ให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาต หรือนำไปกำจัดให้ถูกต้อง ซึ่งผู้กระทำผิดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน สั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ดูแลแก้ไขข้อกฎหมาย แต่หากติดขัดก็ให้เสนอใช้คำสั่งตามมาตรา 44
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นด้วยกับการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะถือเป็นผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ สร้างปัญหามลพิษรุนแรง และต้องมีบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เห็นว่า การสั่งระงับการนำเข้า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะขีดความสามารถในการกำจัดขยะของโรงงานยังไม่ถูกต้อง ซึ่งจากนี้โรงงานต้องหยุดการนำเข้าทันที แม้จะมีจำนวนขยะที่เหลืออยู่ก็ตาม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกำหนดประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกฎหมายภายในประเทศก็สามารถออกประกาศได้ทันที ด้วยการยกระดับวัตถุอันตรายที่ห้ามนำเข้า เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ด้วยกฎหมายปกติ โดยไม่ต้องออกเป็นคำสั่งตามมาตรา 44
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แบ่งเป็น ปัญหาจากโรงงานที่นำเข้าขยะ ซึ่งแม้จะมีใบอนุญาต แต่ไม่ทำการกำจัดขยะเองอย่างถูกต้อง กลับส่งต่อไปยังโรงงานอื่น ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไข และอีกส่วนคือ การสำแดงเท็จ โดยไม่แจ้งว่าสินค้าที่นำเข้ามาเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการสุ่มตรวจอาจทำให้เล็ดลอดไปได้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 7 โรงงาน ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 5 โรงงาน และถูกต้องเพียง 2 โรงงาน. – สำนักข่าวไทย