ภาคใต้ 11 มิ.ย.-สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ 1 ปีย้อนหลัง พบว่าเกิดเหตุการณ์เฉลี่ยเดือนละ 40 ครั้งในทุกรูปแบบ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 220 ศพ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม และเหตุการณ์ “ยิง” เกิดขึ้นมากที่สุด
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์คนร้ายปล้นปืน 413 กระบอก จากค่ายปิเหล็งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ผ่านมากว่า 14 ปีเศษไฟใต้ยังไม่เคยดับ โดยตัวเลขที่น่าตกใจในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พบว่าตลอด 14 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ 9,823 เหตุการณ์ เมื่อรวมกับเหตุอาชญากรรม/ขัดแย้งส่วนตัว รวมถึงที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ทำให้สถิติการเกิดเหตุการณ์มีทั้งสิ้น 15,164 เหตุการณ์
นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ถึงสิ้นปี 2560 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งเหตุอาชญากรรม ความขัดแย้งส่วนตัว และความสูญเสียจากคดีความมั่นคงจำนวนรวม 11,615 ศพ บาดเจ็บ 23,616 คน
พิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงในห้วง 1 ปีย้อนหลังที่มีรายงานในฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2560 ถึงเดือนเมษายนปี 2561 พบว่าเกิดเหตุการณ์ทั้งหมด 498 ครั้ง สูงสุดคือ ในเดือนพฤษภาคมปี 2560 จำนวน 59 ครั้ง น้อยสุดอยู่ที่เดือนกันยายนปี 2560 ที่ 29 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว 12 เดือนมีเหตุการณ์เดือนละประมาณ 40 ครั้ง
ภาพรวมการสูญเสียในห้วง 1 ปีที่ผ่านมาพบผู้บาดเจ็บ 414 คน และ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุไม่สงบรวม 223 ศพ แบ่งเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 44 คน และ นับถือศาสนาอิสลาม 170 คน
หากพิจารณาตามสถานการณ์การก่อเหตุ แม้ภาพรวมการวางระเบิดจะส่งผลกระทบในวงกว้างและเป็นข่าวคึกโครม แต่หากพิจารณาตัวเลขที่ชัดเจนแล้วจะพบว่า ห้วง 1 ปีที่ผ่านมามีการก่อเหตุ “ยิง” ถึงร้อยละ 60 รองลงมาคือการก่อเหตุระเบิดร้อยละ 17 และเหตุวินาศกรรมอื่นๆ ทั้งวางเพลิงและก่อกวนอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 23.-สำนักข่าวไทย