นนทบุรี 1 มิ.ย. – พาณิชย์ขอให้อุตสาหกรรมเหล็กเบาใจ ยันมีมาตรการรับมือเหล็กนอกทะลัก หลังสหรัฐใช้มาตรการ 232เผยมีกฎหมายจัดการทั้งใช้เอดีและเซฟการ์ด ปกป้องการทุ่มตลาดและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์การนำเข้าสินค้าเหล็กจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และยังได้มีการหารือร่วมกับอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อประเมินผลกระทบและแก้ไขปัญหาโดยการเสนอแนะแนวทางการเจรจาภายใต้มาตรการ 232 เพื่อเร่งรัดให้ผู้ส่งออกไทยประสานกับผู้นำเข้าสหรัฐฯ ขอยกเว้นการเก็บภาษีเป็นรายสินค้ากับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มาโดยตลอด เพื่อป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศที่ได้รับผลจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และยังได้มีการยื่นหนังสือถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นการเก็บภาษีไทยเป็นรายประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา
“ขอให้อุตสาหกรรมเหล็กเบาใจ กรมฯ มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เหล็กไทยยังคงสามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี และยังมีการติดตามการนำเข้าสินค้าเหล็กจากต่างประเทศ ตามที่มีความกังวลกันว่าจะมีเหล็กจากประเทศที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีทะลักเข้ามาไทย ซึ่งมีการติดตามมาโดยตลอด และจนถึงขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติในการนำเข้าแต่อย่างใด” นายอดุลย์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการติดตามการนำเข้าหลังจากสหรัฐใช้มาตรการ 232 ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561 พบว่า การนำเข้าเหล็กก่อนใช้มาตรการในช่วง 3 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณนำเข้าเดือนมกราคม 2561 ปริมาณ 1,276,032 ตัน เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ปริมาณ 1,216,730 ตัน และเดือนมีนาคม 2561 ปริมาณ 1,284,997 ตัน และเดือนเมษายน 2561 ปริมาณ 1,253,353 ตัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการนำเข้าไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการนำเข้าที่มีปริมาณปกติตั้งแต่ต้นปี แต่กรมฯ จะไม่นิ่งนอนใจ ยังคงมีการติดตามสถานการณ์การนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเห็นว่ามีการทะลักของการนำเข้าสินค้าเหล็กและก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน ผู้ผลิตสินค้าเหล็กภายในประเทศสามารถที่จะยื่นคำขอให้กรมฯ เปิดไต่สวนการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) หรือการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ภายใต้ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 ได้ ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะพิจารณาให้ทันที ส่วนปัจจุบันไทยมีการใช้มาตรการเยียวยาทางค้ากับสินค้าเหล็กทั้งสิ้น 19 กรณี แบ่งเป็นการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด 16 กรณี จาก 20 ประเทศ และการใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นจำนวน 3 กรณี
นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ( AC) นั้น คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ในเร็ว ๆ นี้ ก่อนจะมีการบังคับใช้ต่อไป ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบครบถ้วนแล้ว ไม่ได้มีความล่าช้าในการผลักดันการออกกฎหมายแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า การออกกฎหมายต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด .-สำนักข่าวไทย