กรุงเทพ 30 พ.ค. – สศอ.ระบุเวียดนามกีดกันการค้าสินค้าส่งออกจากไทย ทำให้นักลงทุนบางส่วนย้ายฐานการผลิต ระบุหน่วยงานภาครัฐต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและขยับสู่การหารือแก้ปัญหาในระดับอาเซียนต่อไป
นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ประเทศเวียดนามใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับไทยนานกว่า 10 ปี ล่าสุดใช้มาตรการนี้กับรถยนต์ส่งออก ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้านี้ออกมาพร้อมกับการยกเลิกเก็บภาษีสินค้านำเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี) ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2561 โดยเวียดนามใช้มาตรการกีดกันทางการค้าด้วยการเพิ่มการเข้มงวดในการตรวจสอบรถยนต์ทุกล็อตที่ส่งออกไปจากไทย ซึ่งมีการส่งออกไปยังเวียดนามทุกวัน ทำให้การส่งออกรถยนต์ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นตามปกติ ซึ่งเรื่องนี้ทาง สมอ.เคยทำเรื่องแจ้งองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เดือนมีนาคม 2561 แต่เรื่องนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ได้รับผลกระทบในการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามกลับไม่ต้องการดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะไม่ต้องการต่อกรกับรัฐบาลใด ๆ
นายณัฐพล กล่าวว่า เชื่อว่าในอนาคตเวียดนามน่าจะมีการขยายการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าไปยังสินค้าอื่น ๆ ผลจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของเวียดนามที่เริ่มจากสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตไปแล้ว หลังจากนั้นอุตสาหกรรมอื่นก็มีการย้ายฐานการผลิตตามไปด้วย โดย 3 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าย้ายฐานการผลิตออกไปที่เวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีการย้ายฐานการผลิตของและอุตสาหกรรมการผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ และ SSD (Solid State Drives)หรือฮาร์ดดิสก์แบบใหม่ที่เป็นการใช้ชิปหน่วยความจำเก็บข้อมูล
นายณัฐพล กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการกีดกันทางการค้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้บางอุตสาหกรรม ย้ายฐานการผลิตออกไป แต่เมื่อย้ายฐานการผลิตออกไปก็พบกับปัญหาที่เวียดนามปิดบังเอาไว้ เช่น การปรับเพิ่มค่าแรง เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าของเวียดนามส่งผลให้นักลงทุนที่ลงทุนในอาเซียน ซึ่งหวังว่าอาเซียนเป็นตลาดเดียวจะไม่เชื่อมั่นในอาเซียนพอสมควร และจะเป็นความมิชอบของอาเซียน เพราะหากเวียดนามทำได้ประเทศอื่นก็จะทำได้เช่นกัน จึงไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน ดังนั้น อาเซียนจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ร่วมกันต่อไป
ด้านประเทศไทยกระทรวงพาณิชย์ สมอ.มีการเจรจากับเวียดนามหลายเวที เพื่อขอให้เแก้ไขการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าดังกล่าว แต่เวียดนามนิ่งเฉยทุกเวทีการเจรจา ดังนั้น ไทยจะต้องมีกลไกอื่นดำเนินการ ส่วนจะฟ้องต่อดับเบิ้ลยูทีโอหรือไม่ก็ขึ้นกับกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณา โดยอาจฟ้องดับเบิลยูทีโอ เช่น บราซิลฟ้องไทยเรื่องอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย.-สำนักข่าวไทย