กรุงเทพฯ22 พ.ค. – กรมการขนส่งทางบกขอความร่วมมือชะลอขึ้นค่าขนส่ง-ค่าโดยสาร 2-3 เดือน ด้านสหพันธ์ขนส่งฯ แนะใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาดีเซลไม่เกิน 29 บาท ส่วนบี 20 ยังไม่ตอบรับว่าจะใช้หรือไม่ ด้าน 4 หน่วยงานร่วมมืออบรมพนักงานขับขี่เน้นปลอดภัย ประหยัดน้ำมัน คาดทำให้ภาพรวมลดใช้น้ำมัน 500 ล้านบาท/ปี
จากราคาพลังงานขยับขึ้นจนดีเซลต่างจังหวัด 30 บาท/ลิตรนั้น นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เข้าใจผลกระทบของผู้ประกอบการของรถโดยสาร รถขนส่ง แต่กระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาโครงสร้างต้นทุนใหม่ทั้งหมด เพราะต้นทุนยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญนอกเหนือจากต้นทุน พลังงาน ดังนั้น จะใช้เวลา 2-3 เดือน ดังนั้น จึงขอว่ายังไม่ปรับขึ้นค่าบริการทั้งหมด จนกว่าผลศึกษาจะเสร็จสิ้น
นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสมาคมสหพันธ์การขนส่งทางบกไทย เสนอว่า รัฐบาลควรนำเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนดีเซลไม่เกิน 29 บาท/ลิตร และควรจัดการไม่ให้ปรับถี่เกินไป เพราะเดือดร้อนอย่างหนัก โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการขนส่งต่างประเทศ เช่น ดีเอชแอลปรับค่าขนส่งไปแล้ว โดยทุกราคาน้ำมัน 1 บาท/ลิตรที่ปรับขึ้นจะขึ้นราคาขนส่งร้อยละ 1.5 แต่ทางสหพันธ์ฯ ยังไม่ปรับขึ้น โดยสหพันธ์ฯ ขอปรับค่าขนส่งร้อยละ5 ตั้งแต่ราดีเซลแตะ 28 บาท/ลิตร แต่ทางกรมการขนส่งทางบกขอให้ชะลอไปก่อนทางสมาคมฯ ก็จะหารือในบ่ายวันนี้ (22 พ.ค.) โดยที่ผ่านมาทางสมาคมฯ เคยลดค่าขนส่งร้อยละ 10 เมื่อช่วงราคาน้ำมันลดลงเมื่อปี 2559-2560 และการขอขึ้นร้อยละ 5 ครั้งนี้ก็คำนวณแล้วแทบจะไม่มีผลกระทบกับค่าสินค้า เพราะกระทบประมาณ 0.00014 บาท/กม.เท่านั้น
ส่วนที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ใช้บี 20 นั้น ทางผู้ประกอบการขนส่งยังไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้คุ้มค่าหรือไม่ เพราะจะต้องมีค่าซ่อมบำรุงที่สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ค่ายรถก็กำลังดูสเปกบี 20 ว่าเป็นอย่างไร โมโนกลีเซอไรด์สูงจนกระทบการอุดตันของเครื่องยนต์หรือไม่
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ได้จูงใจให้รถขนส่งใช้บี 20 ลดต้นทุน 3 บาท/ลิตร คาดจะเริ่มขายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยขอยืนยันว่าสถาบันวิจัย ปตท.และหน่วยงานวิชาการได้ร่วมทดสอบรถบรรทุกขนาดใหญ่ 100,000 กิโลเมตร พบว่า การใช้บี 20 ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการด้วย
ในวันนี้ พพ. กรมการขนส่งทางบก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสมาคมสหพันธ์การขนส่งทางบกไทยได้จัดงานลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือในการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกและรถโดยสารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและความปลอดภัยในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ คาดหวังขับขี่ปลอดภัยและลดต้นทุนขนส่ง คาดว่าจะลดต้นทุนน้ำมันรวม500 ล้านบาท/ปี อบรมผู้ขับขี่ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน นับเป็นการผลักดันการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกและรถโดยสารอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้การบูรณาการบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน เช่น ด้านพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม จะมีการจัดทำคู่มือมาตรฐานการขับรถขนส่งทั่วไปและการขับขี่รถทักษะขั้นสูง ส่วนด้านการส่งเสริมได้มุ่งเน้นในเรื่องการสร้างปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย การส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ในสาขาการจัดการขนส่งด้วยรถบรรทุกหรือรถโดยสาร การกำหนดอัตราค่าจ้างให้เป็นตามมาตรฐานฝีมือ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการยกระดับพนักงานขับรถ การส่งเสริมการพัฒนาศูนย์ข้อมูลด้านขนส่ง เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน
ทั้งนี้ ปี 2560 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในภาคขนส่งมีสัดส่วนการใช้พลังงานมากที่สุดถึงร้อยละ 40.6 ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ โดยเฉพาะการใช้พลังงานในการขนส่งทางถนน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 78 ของรูปแบบการขนส่งทั้งหมด. – สำนักข่าวไทย