กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – กรมประมงปรับกฎหมายใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดฤดูมีไข่ทั่วประเทศ ลดผลกระทบวิถีประมงพื้นบ้าน เริ่มวันที่ 16 พฤษภาคมนี้
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศเพื่อกำหนดฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่และกำหนดชนิด ขนาด เครื่องมือ และวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงในฤดูดังกล่าวตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลายาวนานถึง 54 ปีแล้ว แต่จากสภาพปัจจุบันที่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน สภาพแวดล้อม สภาวะทรัพยากร สภาพภูมิอากาศและเหตุปัจจัยอื่น ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป และจากกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้สามารถกำหนดระยะเวลาฤดูที่สัตว์น้ำจืดมีไข่แต่ละพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม โดยได้มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปทำประชาคมจากผู้แทนชาวประมงแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและส่งผลกระทบน้อยที่สุดในการกำหนดมาตรการดังกล่าว
ดังนั้น ในปี 2561 กรมประมงจึงกำหนดฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนขึ้นใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า ข้อมูลชีววิทยาของสัตว์น้ำจืด และข้อมูลด้านการประมงที่เป็นปัจจุบัน โดยออกประกาศกรมประมง ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 เพื่อกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน ดังนี้
• ในพื้นที่ 45 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราช กำหนดฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคมถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2561
• ในพื้นที่ 25 จังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี กาญจนบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ กำหนดฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายนถึงวันที่ 15 กันยายน 2561
• ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา กำหนดฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน ระหว่างวันที่ 16 กันยายน ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2561
ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาดังกล่าวกำหนดให้เฉพาะ “เครื่องมือและวิธีการทำการประมงที่อนุญาต” เท่านั้นที่สามารถทำการประมงได้ในช่วงเวลาและแหล่งน้ำในจังหวัดดังกล่าว ได้แก่ เบ็ดทุกชนิดที่ไม่มีลักษณะเป็นเบ็ดต่อกันเป็นสายมากกว่า 1 ตัว ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่ 3 เครื่องมือขึ้นไป สุ่ม ฉมวก และส้อม ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง หรือเครื่องมือที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร) การทำการประมงในพื้นที่แหล่งน้ำปิดที่ไม่ติดต่อกับแม่น้ำ หรือลำธารธรรมชาติ และการทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย หรือทดลองทางวิชาการ โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง
สำหรับประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ปี 2561 เท่านั้น โดยจะมีการออกประกาศลักษณะเดียวกันนี้ทุกปี ก่อนหน้าฤดูสัตว์น้ำมีไข่ เพื่อให้มาตรการบริหารจัดการดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงสุดและสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ ดังกล่าวมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือปรับ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า .-สำนักข่าวไทย