รัฐสภา 3 พ.ค. -สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณากระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดการวัคซีนพิษสุนัขบ้า รัฐบาล ยืนยันกำจัดการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง วัคซีนมีเพียงพอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเวลา 10.00 น. วันนี้ (2 พ.ค.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การจัดการวัคซีนพิษสุนัขบ้า” ซึ่งนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เนื่องจากต้องการทราบว่าภาครัฐได้วางแผนบริหารจัดการเกี่ยวกับวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้มีคุณภาพมาตรฐานและเพียงพอเพื่อรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่มีแนวโน้มกลับมาแพร่ระบาดมากขึ้นในอนาคตอย่างไร การที่กรมปศุสัตว์กำหนดให้จัดซื้อวัคซีนเฉพาะบริษัทที่กำหนดไว้เป็นเพราะเหตุใด และภาครัฐมีนโยบายหรือแนวทางในการส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีศักยภาพดำเนินการผลิตวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้มีคุณภาพมาตรฐานที่กำหนดแทนการนำเข้าจากบริษัทในต่างประเทศหรือไม่
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามว่า การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นในปี 2535 และได้ดำเนิการปราบปรามอย่างต่อเนื่องทำให้การแพร่ระบาดลดลง แต่ได้กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในปี 2559-2560 รัฐบาลจึงไม่นิ่งนอนใจ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากพิษสุนัขบ้า” ปี 2560-2563 ขึ้น เพื่อกำหนดกำจัดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป และเป็นไปตามเป้าหมายที่ไทยร่วมกับองค์การอนามัยโลก บูรณาการเพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ส่วนการดำเนินการเชิงรุกในปีนี้ จัดซื้อวัคซีน 1 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับสุนัขให้ครอบคลุมเป้าหมายทั่วประเทศ การมอบมหายให้กรมปศุสัตว์ จัดทำโครงการติดตามประเมินภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเก็บตัวอย่างวัคซีนที่ฉีดในสุนัขให้ครอบคลุมทั่วประเทศมาตรวจสอบ ซึ่งพบว่าสุนัขที่ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันตามมาตรฐานสากล ส่วนข้อกังวลวัคซีนจะไม่เพียงพอนั้นยืนยันว่าเพียงพอแน่นอน รวมทั้งเชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
นายลักษณ์ กล่าวว่า ยังได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีกรอบดำเนินงาน 2 แนวทาง คือ เข้าไปร่วมกับสถาบันที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว และอีกแนวทางคือจากบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ โดยเปรียบเทียบผลการศึกษาเสนอภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายดำเนินการต่อไป.-สำนักข่าวไทย