กทม. 30 เม.ย. – สำนักข่าวไทยตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเสริมความงามในภาพรวมที่พบในไทย พบว่ามูลค่าในปีที่แล้วสูงถึง 140,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมที่สุ่มเสี่ยงอาจส่งผลกระทบถึงชีวิต
ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานแนวโน้มตลาด “สินค้าเพื่อสุขภาพ” ในภาพรวมยังคงเติบโต โดยในปี 2560 พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 140,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ประเภทผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย กลุ่มวิตามิน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและความงาม และเครื่องมือ-อุปกรณ์ทางการแพทย์
เจาะลึกลงไปเฉพาะกลุ่ม “สินค้าเพื่อสุขภาพ” พบว่าเติบโตต่อเนื่องจากหลายปีก่อน โดยในปี 2560 มูลค่าตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์วิตามินและอาหารเสริมสูงกว่า 60,000 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2559 ถึงร้อยละ 11.5
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังโรงงานผลิตอาหารเสริมที่อาจไม่ได้คุณภาพ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมในปัจจุบันที่อาจสูงถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่ามีโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 10,000 โรงงาน ล่าสุด ส.อ.ท.ได้ประกาศข้อมูลรายชื่อสมาชิกโรงงานที่ผลิตสินค้าได้คุณภาพ พบว่ามีเพียง 128 โรงงานเท่านั้น โดยสามารถตรวจสอบได้ที่หน้าเว็บไซต์ ส.อ.ท.
ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจจากการตรวจสอบผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าปัจจุบันมีการร้องเรียนผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ซื้อผ่านระบบออนไลน์อยู่จำนวนพอสมควร แบ่งเป็นเครื่องสำอาง ร้อยละ 37.9 และ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประเภทลดความอ้วน หรือผิวขาวใส ร้อยละ 24
นอกจากนี้ ผลสำรวจจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ประชาชนเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ผ่านระบบออนไลน์ ส่วนใหญ่มาจากเชื่อมั่นใจพรีเซ็นเตอร์ ร้อยละ 29 รวมถึงเห็นสัญลักษณ์ อย. ร้อยละ 25 และความสะดวกสะบายร้อยละ 21. – สำนักข่าวไทย