กทม. 30 เม.ย. – กรณีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนยี่ห้อหนึ่งมากถึง 4 ราย สร้างความสะเทือนใจให้ครอบครัวและคนในสังคม มีคำถามตามว่ายาลดความอ้วนที่อยู่ในท้องตลาดนับร้อยยี่ห้อมีความปลอดภัยเพียงใด และหากเกิดกรณีป่วยหรือเสียชีวิต หน่วยงานใดควรรับผิดชอบและควรป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำอีก
แม้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์นี้ยังคงโฆษณาผ่านสื่อทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งแม่ทีมและตัวแทนจำหน่ายต่างออกยืนยันความมปลอดภัยโดยเฉพาะประเด็นการมีเลข อย. ถูกต้อง และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโพสต์ขายอย่างโจ่งครึ่ม ทั้งที่ผลตรวจเลข อย.กลับเป็นของน้ำปลายี่ห้อหนึ่ง จึงเป็นคำถามที่ อย.ต้องมีคำตอบถึงความรัดกุมในการออกใบอนุญาต อย. ในแต่ละครั้งที่มีการร้องขอ
ล่าสุดวันนี้ เลขาฯ อย. ชี้แจงมาตรการเข้ม การขอเลข อย.ของเครื่องสำอางที่มีกว่า 700,000 ราย และอาหารเสริมกว่า 30,000 รายการ ผ่านออนไลน์ว่า จากนี้จะมีเจ้าหน้าที่พิจารณารายละอียดเพิ่ม และใช้เวลาออกใบอนุญาต 3 วัน จากเดิมอนุมัติทันที นอกจากนี้ออกกฎกระทรวงควบคุมมาตรฐานสถานที่ผลิต ตรวจสอบสถานที่ก่อนออกใบอนุญาตและตรวจสถานที่ผลิตทั้งหมดภายใน 3 เดือน ร่วมกับ กสทช. ตรวจสอบโฆษณาอาหารเสริม เครื่องสำอาง โดยเฉพาะช่องทางโซเชียล และร่วมกับสภาอุตสาหกรรม ทำให้ตรา อย.ปลอมเเปลงยากที่สุด หากประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย แจ้งสายด่วน 1556 หรือ อย.ทุกช่องทาง
แม้ความสูญเสียที่เกิดครั้งนี้ อยู่ระหว่างรอผลชันสูตรสาเหตุที่แท้จริง แต่ครอบครัวเชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงที่สุดน่าจะมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนชนิดนี้ อยากให้กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ให้กับสังคม และกระตุ้นให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีก. -สำนักข่าวไทย