กทม. 18 เม.ย.-ก.เกษตรฯ แจงประกาศมาตรฐานปลาร้า เป็นมาตรการตามความสมัครใจ ด้านผู้ทำปลาร้าชี้การกำหนดมาตรฐานให้เหมือนกันทั้งประเทศเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละเจ้า จะมีสูตรหมักไม่เหมือนกัน
หลังราชกิจจาฯ ได้เผยแพร่ประกาศ ก.เกษตรฯ กำหนดมาตรฐานปลาร้า เนื้อปลานุ่ม หนังไม่ฉีกขาด มีสีตามลักษณะเฉพาะของเนื้อปลา กลิ่นหอมตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า ไม่มีกลิ่นคาว เหม็นอับ เหม็นเปรี้ยว
การใส่เกลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 โดยน้ำหนัก ไม่พบพยาธิตัวจี๊ดและตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับ ไม่มีสิ่งแปลกปลอม แมลง ชิ้นส่วนสัตว์ที่ไม่ใช่ปลา และปลาที่ไม่ได้บรรจุในฉลาก ห้ามใช้สีและวัตถุกันเสีย สารปนเปื้อนต้องไม่เกินเกณฑ์กำหนด
กำหนดด้านจุลินทรีย์ในปลาร้าอย่างละเอียด การบรรจุและการแสดงฉลากสำหรับขายปลีก-ขายส่ง เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรตามกฎกระทรวง
นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจงประกาศดังกล่าวเป็นการประกาศมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้เป็นประกาศบังคับ
นางฝาย นันทช่วง อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มปลาร้าไฮเทค บ้านโนนปลาขาว ต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า หลังทราบข่าวและรายละเอียดการประกาศกำหนดเรื่องมาตรฐานสินค้า ประเภทปลาร้า ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2551 นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับการประกาศ เพราะน่าจะเป็นการยกระดับมาตรฐานปลาร้าในท้องถิ่นขึ้นอีก แต่การกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยนั้น เกรงว่าอาจส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำปลาร้า รายเล็กๆ ที่ไม่ใช่โรงงานใหญ่ โดยเฉพาะการขาย เพราะสู้กับระบบโรงงานไม่ได้ อีกทั้งยังเกรงว่าจะกระทบกับสูตรปลาร้า ซึ่งเป็นสูตรเส้นทางสายปลาแดกที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เนื่องจากวิธีการหมักแต่ละสูตร แต่ละเจ้า จะไม่เหมือนกัน รวมถึงชนิดของปลาที่ใช้ด้วย ซึ่งการกำหนดคุณภาพมาตรฐานให้เหมือนกันทั้งประเทศตามประกาศนั้นแทบเป็นไปไม่ได้
นางฝาย กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยที่กำหนดในประกาศที่ระบุว่าหนังและเนื้อปลาจะต้องไม่ให้ฉีกขาดนั้น เจ้าหน้าที่ควรจะต้องศึกษาวิถีชีวิตคนท้องถิ่น และความเป็นไปเป็นมาของปลาแดก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาร้านั้น เป็นไปไม่ได้เลย เพราะการหมักปลาร้าจะต้องหมักอย่างน้อย 8 เดือนขึ้นไป ถึงจะเป็นปลาร้า และหนังอาจหลุดลอก หรือเนื้อยุ่ย แต่ถ้าหมักไม่ถึง 3 เดือน จะไม่ใช่ปลาร้า และเสี่ยงมีพยาธิ อย่างไรก็ตามการออกประกาศฉบับนี้ ถ้าบังคับใช้ทั่วประเทศ คาดว่าจะกระทบแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตปลาร้ารายย่อย
นายวรวุฒิ เอี่ยมกำแพง เกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ระบุว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบรายละเอียด หรือหลักเกณฑ์ควบคุมมาตรฐานมากนัก เพราะเพิ่งประกาศ แต่โดยข้อเท็จจริงนั้นเป็นการประกาศมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้เป็นประกาศบังคับ ซึ่งผู้ผลิตสามารถผลิตปลาได้เหมือนเดิม แต่หมักกระบวนการผลิตปลาร้าได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด ก็จะเป็นการช่วยยกระดับ และช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้น
ร.ต.ต.วิรัช โตอิ้ม เจ้าของปลาร้าจ่าวิรัช กล่าวและว่าหากมองในมุมผู้บริโภคจะมั่นใจก็มองได้ แต่ปัจจุบันการผลิตก็มีการควบคุมคณภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ไร้สารปนเปื้อน เพราะว่าผู้ผลิตต้องคุมคุณภาพตัวเองอยู่แล้ว ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว ร.ต.ต.วิรัช บอกต่ออีกว่า การออกกฎหมายมาควบคุมการผลิตปลาร้า จะเป็นช่องว่างให้หน่วยงานรัฐเข้ามาบีบ เพราะว่าจะไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะทุกคนต้องทำตามประกาศ ชาวบ้านไปหาปลาได้มาจะทำปลาร้าไปขายตลาดนัด ต้องมีมาตรฐาน มีการควบคุมการผลิต ชาวบ้านที่มีภูมิปัญญาเฉพาะจะทำอย่างไร จะได้รับผลกระทบเต็มๆ ตามมา
“หากรัฐบาลต้องการยกระดับปลาร้าให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ต้องส่งเสริมทั้งระบบ หน่วยงานรัฐเองต้องเข้ามาจัดการทั้งระบบ ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องทำอะไรพร้อมๆกัน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตกรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม มาช่วยเกษตกรผู้ประกอบการทั้งระบบ ส่งเสริมอย่างจริงจังยกระดับเป็นแพ็คเกต จะได้ผลดีและยั่งยืนมากกว่า เพราะว่าตลาดปลาร้าใน 4 ประเทศได้แก่ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ยังต้องการจำนวนมาก” ร.ต.ต.วิรัช กล่าว.-สำนักข่าวไทย