ก.ศึกษา 26 มี.ค.- คืบสอบข้อเท็จจริงทุจริตกองทุนเสมาฯ พบข้อมูล ป.ป.ท.เคยแจ้งศธ.ตั้งแต่ปี 57 กำลังประสานข้อมูลเพิ่มเติมจากป.ป.ท. เพื่อเรียกสอบข้าราชการที่เกี่ยวข้อง 4 รายเร็วๆนี้
นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเปิดเผยถึงความคืบหน้าการสืบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่า ล่าสุดได้ตรวจพบหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)ได้ส่งให้กระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2557 ชี้เเจงกรณีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีร้องเรียนว่า สถาบันยังไม่ได้รับเงินจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของปี 2554 และ 2555 โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคือนางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ระดับ 8 ที่ยอมรับสารภาพว่าได้กระทำการทุจริตชี้เเจงไปยังป.ป.ท.ภายใน 15 วันโดยได้ชี้แจงไปว่า เงินถูกโอนไปแล้วตั้งแต่ ปี 2556 ขณะที่ยังพบข้อมูลว่า การโอนเงินนั้น หลักฐานการจ่ายไม่ระบุชื่อเจ้าของบัญชีมาตั้งเเต่ปี 2551-2559 รวม 10 ปี โดยอ้างว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่มีการระบุ เพิ่งมาระบุเมื่อปี 2560 ธนาคารก็โอนโดยไม่ตรวจสอบ ว่าชื่อบัญชีตรงกับชื่อของสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้รับเงินหรือไม่ จึงตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดธนาคารจึงปล่อยให้มีการโอนเงิน โดยการโอนเงินไปยังโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2551-2559 การโอนเงินเป็นการโอนผ่านระบบจีโร่ (GIRO) ซึ่งมีขั้นตอนที่ต้องใช้ 3 ส่วน คือ ชื่อบัญชี เลขบัญชีและจำนวนเงิน แต่การโอนเงินช่วงปีนี้ มีเพียง 2 ส่วนเท่านั้น
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ ป.ป.ท.ตรวจพบเอกสารเพิ่มเติมที่บ้านของนางรจนาว่าอาจจะมีการทุจริตเพิ่ม 30 ล้านบาทนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นจำนวนเงินเดียวกันกับที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตรวจสอบพบจำนวน 30 ล้านบาทหรือไม่ ซึ่งเป็นเงินก้อนที่หายไปจากเอกสารปี 2550 ,2551 และ 2553 โดยพบว่าบางส่วนเป็นบัญชีปลอม และปิดไปแล้ว ขณะที่บางส่วนโอนไปยังบัญชีของนักเรียนจริง จึงสรุปไม่ได้ว่าเงินก้อนทั้ง 30 ล้านจะเป็นเงินที่มีการทุจริตเพิ่ม
ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายเงินกองทุนปีละ 1-2 ครั้ง พบมากสุด 4 ครั้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุใดจึงมีการโอนเงินหลายครั้ง ส่วนความคืบหน้าการระบุตัวเลขความเสียหายจากการทุจริตตามสถานศึกษาต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. รวบรวมได้ร้อยละ 90 แล้ว ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่ระบุได้เร็ว เพราะสถานศึกษาบางแห่ง แม้ขอรับเงินกองทุน แต่ไม่ทราบว่าได้รับเงินอนุมัติหรือไม่
นายอรรถพล กล่าวต่ออีกว่า ได้ประสานขอเอกสารเพิ่มเติมจากป.ป.ท. เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนก่อนที่จะเชิญผู้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเเละปรากฎชื่อในเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเบิกจ่ายกองทุนทั้ง 4 รายมาสอบสวนเพิ่มเติมเร็วๆนี้ ส่วนกรณีข้าราชการซี 8 ที่ได้เชิญมาพูดคุยถึง 3 ครั้งเเละปฏิเสธทั้ง 3 ครั้ง ตรงนี้ไม่กังวลว่าจะกระทบกับการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งหากไม่มา กระทรวงศึกษาธิการก็สามารถพิจารณาเอาผิดได้ตามหลักฐาน ส่วนการขยายผลกับข้าราชการตำแหน่งสูงนั้น ต้องตรวจสอบให้แน่นอน และไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องจะมีความผิด ต้องพิจารณบทบาทหน้าที่การเซนต์อนุมัติด้วย.-สำนักข่าวไทย