ศูนย์ราชการฯ 16 มี.ค.-รับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติฉบับใหม่เพิ่มเติม ก่อนสรุปในเดือนเม.ย.นี้เเละส่งเข้า ครม. สาระสำคัญสร้างความเข้มเเข็งให้โรงเรียนมีอิสระมากที่สุดเเละปรับกลไกบริหารการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิตเเละการศึกษาตามอัธยาศัย
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเเห่งชาติฉบับใหม่ ที่สภาการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการเเละผู้ที่เกี่ยวข้องการพัฒนาการศึกษาใน 5 ด้าน ได้เเก่ แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต ,แนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย อาศัยกลไกทุกภาคส่วน ,แนวทางการจัดการศึกษาทางเลือก , แนวทางการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา และแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษา
โดยจะนำความคิดเห็นไปประกอบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเเห่งชาติ ซึ่งคาดว่าร่าง พ.ร.บ.จะเเล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมกับนำข้อเสนอเเนะวันนี้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อกำหนดเป็นนโยบายต่างๆ โดยภายในงานได้มีการปาฐกถาพิเศษเเละการประชุมกลุ่มย่อย
ด้านนางดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวปาฐกถานำเรื่อง”การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา”ว่ามาตรา 258 ในรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศ ซึ่งการศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิรูปเพื่อพัฒนาเด็ก ครู การเรียนการสอนนำไปสู่การศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อมองดูปัญหาการศึกษาไทยคือมีความเหลื่อมล้ำโอกาสเข้าถึงการศึกษาเเละคุณภาพการศึกษาต่ำ ด้อยประสิทธิภาพเเละขาดธรรมาภิบาล รวมถึงเเข่งขันกับนานาชาติไม่ได้ การเเก้ปัญหาคือต้องเอื้อความหลากหลาย ,คืนความเป็นอิสระในโรงเรียน คืนศรัทธาต่อนักเรียนเเละครูเเละสร้างคุณภาพให้การสนับสนุนเท่าที่จำเป็น โดยสิ่งที่กอปศ.ได้ดำเนินการมาเเล้วคือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพ.ศ.2561 ,ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ,ร่างพ.ร.บ.การปฐมวัยเเห่งชาติ / ร่างพ.ร.บ.โรงเรียนในกำกับของรัฐ ,ร่างพ.ร.บ.การศึกษาเเห่งชาติ ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา
ขณะที่ นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำพ .ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้นำเสนอแนวทางการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ว่า กฎหมายถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษา โดยสาระสำคัญที่จะบรรจุในร่างพ.ร.บ.การศึกษาเเห่งชาตินี้จะเน้นคือการสร้างความเข้มเเข็งให้กับสถานศึกษามีความเป็นอิสระมากที่สุด
รวมถึงการจำเเนกบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าหน่วยงานใดสนับสนุนหรือกำกับตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน ขณะเดียวกันพึงสร้างเด็กไทยให้มีสมบัติหรือคุณลักษณะตามความต้องการของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการปลดล็อคหลักสูตรเเละปรับการเรียนการสอน
โดยเเบ่งเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ออกเป็น 21 ประเด็น อาทิ การมุ่งพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการสร้างการบริหารจัดการที่เป็นระบบสำหรับการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต การศึกษาตามอัธยาศัยเเละการศึกษาทางเลือก ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ,การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลในการจัดการศึกษา , มีกลไกนโยบายทบทวนเเละชี้นำทิศทางการศึกษาเเละการเรียนรู้ตลอดชีวิต ,การสร้างความเข้มเเข็งให้สถานศึกษา การประกันคุณภาพ สนับสนุนการศึกษาที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปรับระบบสถานศึกษา ,ปรับระบบการวัดเเละประเมินผลให้เหมาะกับเด็กเเละให้มีเท่าที่จำเป็น อีกทั้งยังพบปัญหาว่าโรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยยึดการประเมินผลมากวว่าหลักสูตร , ส่งเสริมโรงเรียนนิติบุคคล โรงเรียนในกำกับของรัฐเเละโรวเรียนพันธะสัญญา , ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเเละคุณภาพทางการศึกษา ,ส่งเสริมกลไกการผลิตครูที่ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครูให้มีประสิทธิภาพเเละประสิทธิผล , การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาเเละประเมินความเหมาะสมในการเข้าสู่ตำเเหน่ง เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย