กทม. 14 มี.ค.-การแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันในสัตว์แล้ว ยังมีการเตรียมนำข้อบัญญัติท้องถิ่นการควบคุมการเลี้ยงและปล่อยสัตว์มาบังคับใช้เพื่อแก้ปัญหาด้วย
น้องหมาและแมว ทั้งที่มีเจ้าของและไร้คนเหลียวแลในทุกพื้นที่ต่างถูกระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากันจ้าละหวั่น แม้ 3 หน่วย ทั้งกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ยืนยันสถานการณ์โรคไม่รุนแรง มีผู้เสียชีวิต 4 คน ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ตรัง สุรินทร์ และนครราชสีมา ส่วนพื้นที่ระบาดในสัตว์พบรวม 37 จังหวัด แต่ไม่ได้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ และยืนยันว่าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่สั่งซื้อ 10.2 ล้านโดส เพียงพอกับจำนวนสุนัขและแมวทั่วประเทศ 10 ล้านตัว
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและยุ่งยากในขณะนี้คือ ฉีดวัคซีนและการทำหมันควบคู่ เพื่อคุมประชากรน้องหมาและแมวขาใหญ่ประจำซอยที่อิ่มหน่ำสำราญเพราะน้ำใจของคนอารี แต่อาจไม่ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า
แนวทางการแก้ไขปัญหาอีกหนึ่งช่องทางคือ การเร่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติ “การควบคุมการเลี้ยงและปล่อยสัตว์” ซึ่งเป็นอำนาจภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ครอบคลุมดูแลเรื่องการเลี้ยงและปล่อยสัตว์ ใจความสำคัญเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ ตั้งแต่ไวรัส โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคแอนแทรกซ์ โรคพิษสุนัขบ้า และยังครอบคลุมไปถึงการถูกสัตว์กัดทำร้าย เหตุรำคาญจากสัตว์ ทั้งกลิ่นจากมูลสัตว์ เสียงร้องรบกวน หรือการปล่อยสัตว์ออกมานอกบ้านรบกวนผู้อื่น ซึ่งจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท นอกนี้จากสาระสำคัญของข้อบัญญัติดังกล่าวยังจะครอบคลุมสัดส่วนของพื้นที่พักอาศัยที่เหมาะกับการเลี้ยงสุนัขด้วย แต่ต้องเป็นการตกลงร่วมกันในท้องถิ่น ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการออกข้อบัญญัติดังกล่าวไปบ้างแล้วประมาณร้อยละ 30
เป้าหมายการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563 อาศัยลำพังกฎหมายคงไม่พอเท่ากับความตระหนักและใส่ใจของเจ้าของสัตว์เลี้ยง ทั้งรักอย่าจืดจาง ไม่ทอดทิ้ง และดูแล พารับวัคซีนต่อเนื่อง ช่วยให้ชีวิตของน้องหมาและแมวไม่ต้องไร้ค่าอยู่ข้างถนน.-สำนักข่าวไทย