สปสช.7 มี.ค.-สปสช.แนะ อบต.เทศบาล ใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล ช่วยควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนกรณีผู้ถูกสุนัขกัดใช้สิทธิบัตรทองฉีดวัคซีนที่ รพ.รัฐ ใกล้ที่สุดโดยเร็วได้
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่ระบาดในหลายพื้นที่ของประเทศขณะนี้ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 13 จังหวัดและพื้นที่เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าอีก 42 จังหวัด ขณะที่มีรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าโดยกรมควบคุมโรค พบเชื้อบวกจากการตรวจยืนยันหัวสุนัขช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ในปีนี้ที่สูงเป็น 2เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง อาทิ สุนัข แมว เป็นต้น เป็นประจำทุกปี และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ ผู้สัมผัสโรค
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลโดยดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาลและ อบต.ที่เข้าร่วม โดยกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นนี้ อปท.สามารถนำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนัก/กอง/ส่วนสาธารณสุขฯ ในเทศบาล หรือ อบต. จัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ ลดอุบัติการณ์ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านี้ได้
ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกัสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2557 ในข้อ 7 (5) ที่ระบุให้นำเงินกองทุนจ่ายใช้จ่ายกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ได้ โดยมีคณะกรรมการกองทุนพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็นเหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในตัวสัตว์เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นโดยตรง
“กรณีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คุกคามสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ขณะนี้ อปท.ซึ่งเป็นหน่วยงานใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดสามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้ตามระเบียบที่กำหนดไว้ ปัจจุบันมีเทศบาลและ อบต.เข้าร่วมดำเนินการกองทุนฯ แล้วจำนวน 7,736 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.49 ของ อปท.ทั้งประเทศ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีผู้ที่ถูกสุนัขกัดหรือสัมผัสน้ำลายสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาครั้งแรก กรณีเข้ารับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปในโรงพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองไว้ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วน สปสช. โทร.1330 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง .-สำนักข่าวไทย