รร.สุโกศล 14 ก.พ. – รัฐบาลเตรียมลดใบอนุญาตเหลือ 1 พัน จาก 7 แสนฉบับ เสนอร่างกฎหมายอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน อุปสรรคอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ตั้งหน่วยงานลูกกลั่นกรองกฎระเบียบ ข้อบังคับในกระทรวง ช่วยลดภาระกฤษฎีกา หวังขยับอันดับของไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานประชุมสัมมนา “การยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ” ว่า หลังจากรัฐบาลแสดงความชัดเจนดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ จึงทำให้ต่างชาติทั้งฝรั่งเศส อิตาลี ยุโรป จากที่ไม่ยอมหารือกับไทย เพราะมองว่ารัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ต่างชาติกลับหันเข้ามาเจรจาลงทุนกับไทย เพราะไทยเป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์ One belt one Road ของจีน และนโยบายทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-อินเดีย ไทยถึงถูกมองว่าเป็นจุดสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ หน่วยงานของรัฐอย่างเช่น บีโอไอ จึงต้องศึกษาแนวทางส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่เพื่อให้สิทธิประโยชน์เพิ่ม เช่น การพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวะ แรงงานกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน ปรับตัวรองรับนโยบาย ทั้งการรองรับผู้สูงอายุ รองรับอีอีซีและเทคโนสมัยใหม่ นอกจากความต้องการของธนาคารโลก เพื่อให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เตรียมเสนอ ครม.ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้พิจารณาออกคำสั่งการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ เพื่อให้ขั้นตอนบริการทางภาครัฐที่เป็นอุปสรรคจากใบอนุญาตทั้งส่วนกลาง หน่วยงานท้องถิ่นสูงถึง 700,000 ใบ เหลือ 6,000 ใบอนุญาต เพื่อใช้มาตรฐานของส่วนกลางเพียงอย่างเดียว จากนั้นปรับปรุงเหลือเพียง 1,000 ใบอนุญาต นำขึ้นบนเว็บไซต์เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดให้ทุกคนรับทราบแนวปฏิบัติ คาดช่วยลดภาระต้นทุนทางกระดาษหรือต้นทุนอื่นได้ 40,000-50,000 ล้านบาท เหมือนกับเกาหลีได้ปรับปรุงลดใบอนุญาตลดต้นทุนได้ถึง 350,000 ล้านบาท ทำให้ขั้นตอนการขออนุญาตจาก 110 วัน เหลือ 37 วัน คาดว่าเดือนพฤภาคมนี้จะเริ่มดำเนินการได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เตรียมเสนอยกร่างกฎหมายการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติขั้นตอนให้กระชับ เปิดเผยข้อมูลขั้นตอนของหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ และยังเสนอตั้งสำนักงานคณะกรรมการทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัยหรือสร้างภาระแก่ประชาชน เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายลูกของกระทรวง กรมต่าง ๆ เพราะ พ.ร.บ.ออกมาหนึ่งฉบับจะมีแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ เกิดขึ้น 10-20 ฉบับ ในการออกระเบียง ข้อบังคับ ซึ่งพิจารณาโดยกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมีองค์กรมาช่วยดูแล องค์กรดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน เพื่อลดภาระให้กับกฤษฎีกา เพื่อทำหน้าที่หลักพิจารณากฎหมายแม่ระดับ พ.ร.บ. เพื่อรัฐบาลมุ่งเดินหน้าลดอุปสรรคหลายด้าน จึงเชื่อมั่นว่าอันดับอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจจะขยับขึ้นได้อีกมากจากปัจจุบันอันดับ 26 ของโลก
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่า ธนาคารโลกจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business 2018) ประเทศไทยขยับอันดับจาก 46 เป็นอันดับที่ 26 จาก 190 ประเทศ ดีขึ้นจากปีก่อนถึง 20 อันดับ และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ที่สำคัญเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีการปฏิรูปมากที่สุด โดยภายในปี 2564 รัฐบาลตั้งเป้าหมาย ขยับผลการจัดอันดับเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน จึงเดินหน้าปลดล็อคข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เป็นพื้นฐานรองรับงานทุกด้าน และการพัฒนาระบบให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) มากขึ้นในปีนี้ ด้านเริ่มต้นธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพัฒนาระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) และระบบ e-Filing ด้านจดทะเบียนทรัพย์สินของกรมที่ดินได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น LandsMaps ให้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินได้อย่างสะดวก ทั้งรูปแปลงที่ดิน ตำแหน่ง และสภาพพื้นที่ ราคาประเมิน ค่าธรรมเนียม ภาษีอากร ค่าใช้จ่ายในการรังวัด คิวรังวัด รวมทั้งข้อมูลการเดินทางไปยังสำนักงานที่ดิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เลขที่โฉนด
ด้านการค้าระหว่างประเทศ กรมศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือเอกชนร่วมกันพัฒนา NSW ใบกำกับการขนย้ายสินค้า ให้บริการพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับของถ่ายลำและการขนส่งต่อเนื่องเปลี่ยนยานพาหนะ (e-Transition) ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ศาลยุติธรรมใช้ระบบ e-Filing เพื่อให้บริการประชาชนในการยื่นคำคู่ความผ่านระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ โดยศาลที่นำร่องเปิดให้บริการในขณะนี้ ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ในคดีซื้อขาย เช่าทรัพย์ จำนอง จำนำ ค้ำประกัน กู้ยืมเงิน เช่าซื้อ และบัตรเครดิต นับว่าคดีแพ่งยื่นศาลพิจารณา 946,933 คดี ศาลได้ปรับระบบพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน หากเป็นคดีสามัญกำหนดให้พิจารณาเสร็จ 12 เดือน ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลายของกรมบังคับคดีได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก.พ.ร.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปีงบประมาณ 2561 ผลักดันตามข้อเสนอของธนาคารโลก.-สำนักข่าวไทย